Skip to content
Home » [NEW] | สัญชาติของประเทศต่างๆ – NATAVIGUIDES

[NEW] | สัญชาติของประเทศต่างๆ – NATAVIGUIDES

สัญชาติของประเทศต่างๆ: คุณกำลังดูกระทู้

   ผู้ตั้งคำถาม : TEACHER วันที่ Post : 30-05-2013
18:40 
 จำนวน
Post: 16 ครั้ง

 

TEACHER 

อาจารย์ ขอให้นักศึกษา พยายามศึกษาจากแนวตอบเฉลย และ ศึกษาข้อบกพร่องของตนเองเพื่อแก้ไข
ปรับปรุง และ เตรียมสอบในภาคต่อไปค่ะ นักศึกษาจะเห็นได้ว่าโจทย์จะบอกทุกประเด็นที่ถาม
และ ทำให้สามารถวางหลักกฎหมายได้เป็นอย่างดี พยายามอ่านโจทย์ให้ละเอียดจะพบว่า
มีขั้นตอนในการตอบ อย่างเป็นระบบ ขอให้ศึกษาจากแนวตอบต่อไปนี้ค่ะ

ข้อสอบและ
เฉลยนี้เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ห้ามนักศึกษา
หรือผู้หนึ่ง ผู้ใด ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ในที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กฎหมายระหว่างประเทศ

จัดทำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร. ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล

คำถาม

นายเดวิดเป็นบุตรของนายจอห์นบิดาซึ่งมีสัญชาติอังกฤษ
และ นางโซฟี มารดาซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส แต่นายเดวิดเกิดที่ประเทศไทย
เนื่องจากนายจอห์นและนางโซฟี
ได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจตั้งภัตตราคารฝรั่งเศสในประเทศไทย
ครอบครัวนี้ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 20 ปี เมื่อนายเดวิดอายุ 16 ปี ได้หลงรักนางสาวดวงใจเพื่อนร่วมชั้นเรียนและได้ทำพินัยกรรมยก
ทรัพย์สินทั้งหมดของตนให้นางสาวดวงใจ โดยเขียนพินัยกรรมทั้งฉบับด้วยตนเอง
ซึ่งนายเดวิดมีเงินเก็บอยู่ในธนาคาร100,000 บาท และ
เป็นเจ้าของตึกแถวหนึ่งคูหา ราคา 1,000,000 บาท
ซึ่งนายจอห์นยกให้นายเดวิดเป็นของขวัญวันเกิดเมื่ออายุครบ 15 ปี ต่อมานายเดวิดประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย
นางสาวดวงใจจึงมาเรียกร้องทรัพย์มรดกจากบิดา มารดา นายเดวิด แต่นายจอห์น และ
นางโซฟี ปฏิเสธที่จะดำเนินการยกทรัพย์สินให้
โดยอ้างว่าตามกฎหมายอังกฤษและฝรั่งเศส บุคคลจะทำพินัยกรรมได้ต้องอายุ ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และ
พินัยกรรมต้องทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้นพินัยกรรมที่นายเดวิดทำจึงเป็นโมฆะ
เนื่องจากนายเดวิดไม่มีความสามารถในการทำพินัยกรรม
อีกทั้งไม่ได้ทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ
นักศึกษาจงพิจารณา วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายจอห์นและนางโซฟี ชอบด้วยกฎหมาย
หรือ ไม่ และ นางสาวดวงใจจะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม หรือ ไม่

แนวตอบ

          หลักกฎหมาย

พระราชบัญญัติกฎหมายสัญชาติ พ. ศ.  2508, 2535, 2551

มาตรา 7
บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย
ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2)
ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง

มาตรา 7 ทวิ  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย
โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย
ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมาย หรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2)
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ

(3)
ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

มาตรา 8  ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย
ถ้าขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็น

(1)
หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต

(2) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล

(3)
พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

(4) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน
(1) (2) หรือ (3)

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
.ศ. 2481

มาตรา 6

………………………………………..

ว  2 ในกรณีใดๆ ที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย
กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม

มาตรา 39 ความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรม
ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่ทำพินัยกรรม

มาตรา 40 บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้
หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้

มาตรา 41 ผลและการตีความพินัยกรรมก็ดี ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย

ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์

มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์

มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง
หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ย่อมสามารถทำได้

มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้น
จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้
กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี
และลายมือชื่อของตน

        

 

 

  วินิจฉัย

            ประเด็นปัญหา

1.        นายเดวิดมีสัญชาติใด

2.        มูลพิพาทเกี่ยวกับเรื่องใด

3.        ต้องใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับกับคดี

4.        ความสามารถในการทำพินัยกรรม และ
แบบของพินัยกรรมบังคับตามกฎหมายประเทศใด และ มีแบบอย่างใด

5.        ปัญหาการตีความ หรือ การมีผลของพินัยกรรมใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ

 

1. นายเดวิดเป็นบุตรของนายจอห์นบิดาซึ่งมีสัญชาติอังกฤษ
และ นางโซฟี มารดาซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส แต่นายเดวิดเกิดที่ประเทศไทย โดยนายจอห์นและนางโซฟี ได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจตั้งภัตตราคารฝรั่งเศสในประเทศไทย
ครอบครัวนี้ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 20 ปี นายเดวิดจึงมีสัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศสตามหลักสืบสายโลหิต
และ ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน
โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิวรรคหนึ่ง เพราะแม้บิดามารดาจะเป็นต่างด้าวทั้งคู่
แต่ครอบครัวนี้ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้ง 20 ปี จึงไม่ใช่บุคคลที่เข้ามาอยู่ชั่วคราว หรือ
ไม่ได้เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบ หรือ
ไม่ได้เข้าเมืองมาอยู่โดยได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ
เนื่องจากได้เข้ามาประกอบธุรกิจทำภัตราคารฝรั่งเศสโดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง
บิดา มารดา ของเดวิดไม่ได้ เป็นบุคคลในคณะทูต กงสุล องค์การระหว่างประเทศ
คนใช้ หรือ ครอบครัวทูต
เดวิดจึงมีสัญชาติไทยด้วยและเดวิดเป็นบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาคราวเดียวกัน
คือสัญชาติ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ สัญชาติไทย

2. มูลพิพาทในคดีนี้เกี่ยวกับความสามารถในการทำพินัยกรรม และแบบของพินัยกรรม
เนื่องจาก บิดา มารดานายเดวิด อ้างว่า
นายเดวิดไม่มีความสามารถทำพินัยกรรมด้วยยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอังกฤษและฝรั่งเศส
แต่ตามกฎหมายไทยนายเดวิดสามารถทำพินัยกรรมได้
อีกทั้งแบบของพินัยกรรมของประเทศอังกฤษ
และฝรั่งเศสก็แตกต่างจากแบบของพินัยกรรมตามกฎหมายไทย
ดังนั้นเมื่อมีมูลพิพาทกันด้วยความสามารถในการทำพินัยกรรมและแบบของพินัยกรรมซึ่งนายเดวิดมีหลายสัญชาติรวมทั้งสัญชาติไทยด้วยจึงจะใช้กฎหมายไทยทันทีไม่ได้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีองค์ประกอบต่างชาติ (Foreign
Elements)

 

3.คดีที่พิพาทกันด้วยเรื่องความสามารถในการทำพินัยกรรมและแบบของพินัยกรรมซึ่งเป็นคดีที่มีองค์
ประกอบต่างชาติดังกล่าว จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกันอันเป็นเครื่องมือในการหากฎหมายมาบังคับกับคดี
ซึ่ง มาตรา 39 ของพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน
บัญญัติว่าความสามารถของบุคคลที่จะทำพินัยกรรม
ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติในขณะที่ทำพินัยกรรม จึงต้องหาสัญชาติของนายเดวิดเพื่อหากฎหมายสัญชาติมาปรับใช้กับคดี และ มาตรา 6 ของพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน บัญญัติว่า………ในกรณีใดๆ
ที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย
กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม
ดังนั้นนายเดวิดซึ่งมีหลายสัญชาติแต่มีสัญชาติไทยอยู่ด้วยจึงต้องใช้สัญชาติไทยในการหากฎหมายมาบังคับกับคดี

4. ดังนั้นเมื่อหากฎหมายแห่งสัญชาตินายเดวิดได้แล้วคือ
กฎหมายไทย จึงสามารถพิจารณา ความสามารถตามกฎหมายไทยต่อไป
รวมทั้งแบบของพินัยกรรม ซึ่งมาตรา 25 ปพพ
บัญญัติว่า ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์ และ มาตรา 40 ของพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน บัญญัติว่า บุคคลจะทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ก็ได้
หรือจะทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้
ดังนั้นเดวิดซึ่งมีสัญชาติไทยและทำพินัยกรรมในประเทศไทยจึงสามารถทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยกำหนดได้
และ แบบของพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย หากทำตามแบบที่กฎหมายไทยกำหนด
เมื่อพิจารณาแบบของพินัยกรรมตามกฎหมายไทยอันเป็นกฎหมายสัญชาติของเดวิดและที่
ที่ทำพินัยกรรม จะพบว่า กฎหมายไทยบัญญัติแบบของพินัยกรรมไว้หลายแบบ
รวมทั้งแบบเขียนเองทั้งฉบับได้ ตาม มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด
วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
ดังนั้นนายเดวิดจึงทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับได้และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย

5. เกี่ยวกับปัญหาการตีความ หรือ
การมีผลของพินัยกรรมใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ มาตรา41 ของพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน บัญญัติว่า ผลและการตีความพินัยกรรมก็ดี
ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย      ดังนั้นนายเดวิดมึภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยในขณะที่ถึงแก่ความตายจึงต้องใช้กฎหมายไทยบังคับกับคดี

สรุป

1.        นายเดวิดมีสัญชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส และ ไทย

2.        มูลพิพาทในคดีนี้เกี่ยวกับเรื่องความสามารถในการทำพินัยกรรมซึ่งต้องใช้กฎหมายสัญชาติมาบังคับกับคดี
และ แบบของพินัยกรรม ซึ่งสามารถทำตามแบบกฎหมายสัญชาติ
หรือ ตามแบบกฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรม นั่นคือกฎหมายไทย

3.        ต้องใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับกับคดี
เมื่อนายเดวิดเป็นบุคคลที่มีหลายสัญชาติที่ได้มาในเวลาเดียวกัน
แต่นายเดวิดมีสัญชาติไทยด้วย กฎหมายขัดกันของไทย ให้ใช้กฎหมายสยามเป็นกฎหมายสัญชาติที่จะมาบังคับกับคดี

4.        นายเดวิดมีความสามารถในการทำพินัยกรรม
ซึ่งตามกฎหมายไทยผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีบริบูรณ์ และ
แบบของพินัยกรรมบังคับตามกฎหมายประเทศไทยได้เพราะเป็นกฎหมายสัญชาติของผู้ทำพินัยกรรม
และ แบบของพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นแบบของพินัยกรรมที่สามารถทำได้ตามกฎหมายไทยได้โดยสมบูรณ์

5.        ส่วนปัญหาการตีความ หรือ
การมีผลของพินัยกรรมให้ใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับกับคดี

6.        ดังนั้นนางสาวดวงใจจึงสามารถรับมรดกตามพินัยกรรมได้
แม้นางสาวดวงใจจะเป็นผู้เยาว์แต่การทำนิติกรรมตาม มาตรา
๒๒ ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น
หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง
หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ย่อมสามารถทำได้

วิเคราะห์

            ข้อสอบข้อนี้มีวัตถุประสงค์ในการประเมินความรู้ของนักศึกษาว่าสามารถวิเคราะห์ประเด็นโจทย์ที่ถามเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติได้หรือไม่
และ สามารถวิเคราะห์ การใช้เครื่องมือในการหากฎหมายมาบังคับกับคดีได้หรือไม่
ตามพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน ในเรื่องการหาสัญชาติของบุคคล
การหากฎหมายสัญชาติที่จะมาบังคับกับคดี และ การวิเคราะห์มูลคดีพิพาท
ตลอดจนการปรับใช้กฎหมายไทยบังคับกับคดีได้ถูกต้องหรือไม่
เป็นการศึกษาอย่างบูรณาการในการใช้กฎหมาย
ซึ่งจำเป็นสำหรับนักศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ

          จุดบกพร่องที่นักศึกษาไม่สามารถทำข้อสอบข้อนี้ได้
มีตั้งแต่การไม่ได้ศึกษามาอย่างเพียงพอ
ยังไม่เข้าใจหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด
รวมทั้งไม่มีความรู้กฎหมายไทยด้วย นักศึกษาไม่ได้คิด วิเคราะห์ให้รอบด้าน
นักศึกษาเกือบทั้งหมดไม่ได้ตอบเกี่ยวกับการหาสัญชาติของบุคคลที่มีหลายสัญชาติ
และ การหากฎหมายสัญชาติมาบังคับกับคดี ส่วนใหญ่มักจะรวบรัดตอบว่า นายเดวิดเป็นคนไทยและใช้กฎหมายไทยบังคับไปทันที
ทำให้ไม่ได้ตอบครอบคลุมทุกด้าน จึงแนะนำให้นักศึกษาฝึกการ คิด
วิเคราะห์เป็นระบบ รอบด้าน ศึกษาโจทย์ที่ถามมาให้ละเอียด ทุกประเด็น
แล้วกำหนดประเด็นคำถาม
แล้วจึงวางหลักกฎหมายให้ครบถ้วนและวิเคราะห์ตามหลักกฎหมายที่ได้วางไว้
นักศึกษาก็จะสามารถตอบคำถามได้อย่างครบถ้วนครอบคลุม และเป็นขั้นตอน
ขอให้นักศึกษาตั้งใจเรียนแล้วสำรวจความผิดพลาดในการทำสอบของตนเองแล้วแก้ไขให้ดีขึ้นย่อมประสบความสำเร็จในการสอบ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา และขอให้ท่านประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนต่อไป
สู้ๆค่ะ

บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยวามเพียร

ครู

 

 

 

อาจารย์
ขอให้นักศึกษา พยายามศึกษาจากแนวตอบเฉลย และ
ศึกษาข้อบกพร่องของตนเองเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และ เตรียมสอบในภาคต่อไปค่ะ
นักศึกษาจะเห็นได้ว่าโจทย์จะบอกทุกประเด็นที่ถาม และ
ทำให้สามารถวางหลักกฎหมายได้เป็นอย่างดี พยายามอ่านโจทย์ให้ละเอียดจะพบว่า
มีขั้นตอนในการตอบ อย่างเป็นระบบ ขอให้ศึกษาจากแนวตอบต่อไปนี้ค่ะ

ข้อสอบและ เฉลยนี้เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ห้ามนักศึกษา หรือผู้หนึ่ง ผู้ใด
 ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ในที่อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กฎหมายระหว่างประเทศ

จัดทำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร. ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล

คำถาม

          นาย
โมฮัมเหม็ด ชาวโรฮิงยา ต้องการหนีออกจากประเทศพม่า
โดยบุกขึ้นไปจี้เครื่องบินสายการบินแควนตัสที่จอดอยู่ที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง
แล้วบังคับนายปีเตอร์ ซึ่งมีสัญชาติอังกฤษ
และเป็นกัปตันเครื่องบินดังกล่าวให้ไปส่งที่ประเทศสิงคโปร์
แต่นายปีเตอร์ขัดขืนจึงถูกนายโมฮัมเหม็ด ยิงบาดเจ็บ นางสาวมิชิโกะ แอร์โฮสเตส สัญชาติญี่ปุ่น ที่ทำงานในเครื่องบินดังกล่าว
เข้าช่วยเหลือกัปตัน จึงถูกยิงบาดเจ็บอีกคน นายโมฮัมเหม็ด
ได้บังคับให้กัปตันที่สองนำเครื่องบินลงจอดที่ปาปัวนิวกินีแทน
แล้วหลบหนีไป
ต่อมานายโมฮัมเหม็ดได้รับแจ้งจากเพื่อนๆให้ทราบว่าคนไทยใจดีเลี้ยงดูชาวโรฮิงยาอย่างดี
ไม่ต้องหนีไปไหนให้มาปักหลักที่ประเทศไทยจะดีกว่า นายโมฮัมเหม็ด
ดีใจมากจึงเล็ดลอดหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ถูก ตำรวจของไทยจับตัวได้
ดังนี้ นักศึกษาจงพิจารณาว่า

1.      ประเทศใดบ้างมีเขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดีจี้เครื่องบินกับนายโมฮัมเหม็ดได้

2.      ประเทศไทยมีเขตอำนาจรัฐที่จะดำเนินคดีต่อนายโมฮัมเหม็ดได้หรือไม่เพราะเหตุใด

3.      หากประเทศออสเตรเลียจะร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังออสเตรเลียจะได้หรือไม่หากประเทศไทยและออสเตรเลียมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

 

แนวตอบ

          หลักกฎหมาย

เขตอำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจตามกฎหมายของรัฐเหนือ
บุคคล ทรัพย์สิน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาเขตอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของอธิปไตยของรัฐ
แล้ว อาจแบ่งเขตอำนาจรัฐออกเป็น  เขตอำนาจในทางนิติบัญญัติ  เขตอำนาจในทางศาล  และเขตอำนาจในการบังคับการตามกฎหมายในทางบริหาร
แต่หากคำนึงถึงประโยชน์ในการทำความเข้าใจขอบเขตของเขตอำนาจรัฐ  อาจจำแนกเขตอำนาจของรัฐออก ดังนี้

1)      เขตอำนาจในการสร้างหรือบัญญัติกฎหมาย
โดยฝ่ายนิติบัญญัติ

2)      เขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยฝ่ายตุลาการ  และโดยฝ่ายบริหาร

การใช้เขตอำนาจรัฐ  ในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยได้มีการศึกษาสำรวจทางปฏิบัติของรัฐต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง  พบว่าการใช้เขตอำนาจของรัฐเหนือบุคคล  ทรัพย์สิน  หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้น
มีมูลฐาน  (Basis) เนื่องมาจากหลักการ (principle)   5 ประการ ที่สนับสนุนการใช้เขตอำนาจของรัฐด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน
ได้แก่

1.       หลักดินแดน (Territorial Principle) หมายถึง รัฐมีเขตอำนาจเหนือบุคคล  ทรัพย์สิน
หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในดินแดนของรัฐ โดยไม่จำต้องคำนึงว่า
บุคคลนั้นมีสัญชาติของรัฐใด  หรือทรัพย์สินนั้นเป็นของบุคคลสัญชาติใด

2.       หลักสัญชาติ (Nationality Principle)
ถือว่าสัญชาติเป็นสิ่งเชื่อมโยงที่ทำให้รัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือบุคคลซึ่งถือสัญชาติของรัฐ  ตลอดจนทรัพย์สินที่มีสัญชาติของรัฐโดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ที่ใด

3.       หลักป้องกัน (Protection
Principle)
รัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือบุคคลซึ่งกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  ทั้งในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจ เช่น  การคบคิดกันล้มล้างรัฐบาล  การจารกรรม  การปลอมแปลงเงินตรา  ตั๋วเงิน  ดวงตรา  แสตมป์  หนังสือเดินทาง  หรือเอกสารมหาชนอื่น
ๆ  ซึ่งออกโดยรัฐ  เป็นต้น แม้ว่าผู้กระทำจะมิใช่บุคคลสัญชาติของรัฐ  และการกระทำนั้นจะมิได้เกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐนั้นก็ตาม

4.       หลักผู้ถูกกระทำ (Passive Personality Principle) หลักสัญชาติ
และหลักผู้ถูกกระทำ(passive personality) ต่างก็อาศัยสัญชาติของบุคคลเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและรัฐผู้ใช้เขตอำนาจ  แต่มีข้อแตกต่างกันคือ  ตามหลักสัญชาติ  รัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนโดยมีมูลฐานมาจากสัญชาติของผู้กระทำความผิด  ในขณะที่ตามหลักpassive personality เขตอำนาจของรัฐกลับอาศัยมูลฐานจากสัญชาติของเหยื่อหรือผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิด

5.       หลักสากล (Universality Principle)
รัฐใดๆก็ตามย่อมมีเขตอำนาจเหนืออาชญากรรมที่กระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศโดยส่วนรวม  โดยไม่คำนึงว่าอาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐนั้นหรือไม่  และผู้กระทำหรือผู้ได้รับผลเสียหายจากการกระทำจะเป็นคนสัญชาติของรัฐใด  ดังนั้น  เขตอำนาจสากลจึงมีความเชื่อมโยงอยู่กับลักษณะของการกระทำความผิดหรืออาชญากรรมเป็นสำคัญได้แก่
การจี้เครื่องบิน โจรสลัด การจับคนเป็นตัวประกัน การค้ายาเสพติด การก่อการร้ายเป็นต้น

              

 การพิจารณากรณีที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ต้องพิจารณาตามลำดับต่อไปนี้คือ
ประเภทของบุคคล ประเภทของความผิด ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทำความผิด
พิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ผลการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
และหลักทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

หลักทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจสรุปได้ดังนี้

          1. บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว เป็นผู้กระทำผิดทางอาญาหรือถูกลงโทษในทางอาญา
ในเขตของประเทศผู้ร้องขอ
หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่จะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

          2. ต้องไม่ใช่คดีที่ขาดอายุความ
หรือคดีที่ศาลของประเทศใดได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดนแล้ว

          3. บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว
จะเป็นพลเมืองของประเทศผู้ร้องขอหรือของประเทศผู้รับคำขอ
หรือของประเทศที่สามก็ได้

          4. ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทำไปนั้น
ต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาของทั้งสองประเทศ
คือประเทศผู้ร้องขอและประเทศผู้รับคำขอ (principle of double
criminality)

          5. ต้องเป็นความผิด ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี (ตามอนุสัญญาMontevideo ค.ศ. 1933) และกฎหมายไทยก็ยึดถือหลักเกณฑ์นี้ด้วย

          6. บุคคลผู้ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศที่ถูกร้องขอให้ส่งตัว (ประเทศผู้รับคำขอ)

          7. ประเทศเจ้าของท้องที่เกิดเหตุ (ประเทศผู้ร้องขอ) เป็นผู้ดำเนินการร้องขอให้ส่งตัวโดยปฏิบัติตามพิธีการต่างๆ
ครบถ้วนดังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

          8. ผู้ที่ถูกส่งตัวไปนั้น
จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ระบุมาในคำขอให้ส่งตัวหรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องเป็นความผิดที่มีระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างกัน

          9. ต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมือง
เพราะมีหลักห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีการเมือง
นอกจากนั้นยังมีความผิดบางประเภทซึ่งประเทศต่างๆ ไม่นิยมส่งผู้ร้ายข้ามแดน

               หลักกฎหมายไทยกำหนดวิธีพิจารณาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้สองวิธีคือ กรณีที่ประเทศไทยมีสนธิสัญญาหรือสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับประเทศผู้ร้องขอ
ก็ให้พิจารณาสนธิสัญญาหรือสัญญานั้นเป็นหลักพิจารณา และกรณีที่ประเทศไม่มีสนธิสัญญาหรือสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับประเทศผู้ร้องขอก็ให้นำหลักทั่วๆ ไปในพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาเป็นหลักพิจารณา และ
การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศผู้รับคำขอที่จะส่งหรือไม่ส่งก็ได้

 

วินิจฉัย

1.       ประเทศใดบ้างมีเขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดีจี้เครื่องบินกับนายโมฮัมเหม็ดได้ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าการกระทำของนายโมฮัมเหม็ดเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติตามหลักเกณฑ์ในการกำหนดเขตอำนาจศาลตามมูลฐานหลักสากลที่ไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อความผิด
และใครจะเป็นผู้เสียหายโดยตรง และ ไม่ว่าจะกระทำในเขตแดนของรัฐใดก็ตาม
ทุกประเทศก็มีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ ดังนั้น
ประเทศที่มีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ คือ ทุกประเทศ

2.ประเทศไทยมีเขตอำนาจรัฐที่จะดำเนินคดีต่อนายโมฮัมเหม็ดได้หรือไม่เพราะเหตุใดนั้น
เมื่อทุกประเทศมีเขตอำนาจรัฐตามมูลฐานหลักสากล
ดังนั้นประเทศไทยย่อมมีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ด้วย
แม้ว่าการกระทำในการจี้เครื่องบินของนายโมฮัมเหม็ดไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย
และคนไทยไม่ได้เป็นผู้เสียหาย หรือ
คนไทยไม่ได้เกี่ยวข้องในการกระทำผิดเลยก็ตาม

3.หากประเทศออสเตรเลียจะร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังออสเตรเลียจะได้หรือไม่หากประเทศไทยและออสเตรเลียมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน
ในกรณีนี้ ประเทศออสเตรเลียก็มีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ เช่นกัน
ในกรณีของการมีเขตอำนาจรัฐทับซ้อน (Concurrent
Jurisdiction) ซึ่งหมายถึงการที่มีประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศมีเขตอำนาจรัฐเหนือการกระทำอันเป็นความผิด
ดังเช่นในกรณีนี้ ประเทศที่จะใช้เขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดี จะต้องเป็นประเทศที่ผู้กระทำผิดได้เข้าไปอยู่ในเขตอำนาจรัฐนั้นๆ
ดังนั้นหากผู้กระทำผิดไม่ได้เข้าไปอยู่ในเขตอำนาจรัฐนั้น
ถึงแม้รัฐนั้นจะมีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีดังกล่าวก็จะไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้
เว้นแต่จะมีการขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อส่งตัวผู้กระทำผิดไปยังรัฐที่ร้องขอนั้น
ดังนั้นประเทศออสเตรเลียซึ่งก็มีเขตอำนาจรัฐเหนือการกระทำผิดฐานจี้เครื่องบิน
จึงอยู่ในกรณีดังกล่าวนี้
หากประเทศออสเตรเลียประสงค์ที่จะขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศไทย
ซึ่งผู้กระทำผิดได้เข้ามาอยู่ในเขตอำนาจรัฐของไทยแล้ว
และประเทศไทยซึ่งมีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ด้วยและมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศออสเตรเลียนั้น
จะส่ง หรือ ไม่ส่งนายโมฮัมเหม็ดให้แก่ประเทศออสเตรเลียก็ได้
โดยปกติประเทศที่ได้ตัวผู้กระทำผิดหากไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงมักจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
เช่นในกรณีของ ประเทศอังกฤษ หรือ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่ในกรณีที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง มาร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศที่ได้ตัวผู้กระทำผิดมักจะดำเนินคดีกับผู้นั้นเองในฐานะที่เป็นเจ้าของดินแดนที่ผู้กระทำผิดเข้ามาอยู่ในเขตอำนาจรัฐ
เว้นแต่ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว
เช่น อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น

สรุป

1.       ทุกประเทศมีเขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดีจี้เครื่องบินกับนายโมฮัมเหม็ดได้

2.       ประเทศไทยมีเขตอำนาจรัฐที่จะดำเนินคดีต่อนายโมฮัมเหม็ดได้ตามมูลฐานหลักสากล

3.       ประเทศออสเตรเลียจะร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังออสเตรเลียได้หากประเทศไทยและออสเตรเลียมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน
แต่ประเทศไทยย่อมมีอำนาจอธิปไตยในการส่งหรือไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ได้

 

 วิเคราะห์

          ข้อสอบข้อนี้มีวัตถุประสงค์ในการประเมินผลความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐ และ มูลฐานในการกำหนดเขตอำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐ
ตลอดจนความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
นักศึกษาส่วนใหญ่ตอบข้อสอบข้อนี้ได้แต่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน
ส่วนนักศึกษาที่ตอบผิดมักจะไม่เข้าใจเขตอำนาจรัฐตามหลักสากล
โดยตอบว่าการกระทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยและ คนไทยไม่ได้เกี่ยวข้องในการกระทำผิดในคดีดังกล่าวเลย
นอกจากนั้นนักศึกษาบางส่วนยังตอบผิดเกี่ยวกับการไม่มีเขตอำนาจรัฐของออสเตรเลีย
ด้วยเหตุผลที่ว่าการกระทำผิด บุคคลที่กระทำผิด
หรือผู้เสียหายไม่ได้เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียเลย เป็นต้น
การตอบข้อสอบผิดในลักษณะนี้ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่ได้ศึกษามา
เพราะเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐ
จึงแนะนำให้นักศึกษาตั้งใจอ่านหนังสือให้เข้าใจ
วิชานี้ไม่ได้ยากหากได้ศึกษามาอย่างดี
นักศึกษาจำเป็นจะต้องมีความรู้จึงจะสามารถสอบผ่านได้

 

คำถาม

นายเจฟฟรี
เอกอัครราชทูต ชาวอังกฤษ ประจำประเทศ ฝรั่งเศส
ได้นำรถยนต์ส่วนตัวของตนไปจอดอยู่ที่ ถนน ชองเอลิเซ่ ซึ่งเป็นที่ห้ามจอด
จึงถูกตำรวจจราจรฝรั่งเศสจับ และถูกปรับ
นายเจฟฟรีโต้แย้งว่าตนเป็นทูตได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต
จะไม่ถูกจับ หรือ ปรับแต่ประการใด แต่ตำรวจฝรั่งเศสก็โต้แย้งว่า   นายเจฟฟรี
ไม่ได้กำลังปฏิบัติหน้าที่ทูต ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวและใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วย
จึงไม่รับฟัง นายเจฟฟรีโกรธมาก
จึงทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสและแจ้งรัฐบาลอังกฤษให้ทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
รัฐบาลอังกฤษจึงทำหนังสือประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสที่จับกุมเอกอัครราชทูต
แล้วปรับ ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองทูต
เนื่องจากทูตจะบริโภคเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต
นักศึกษาจงพิจารณาว่าในกรณีดังกล่าวนี้
รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องรับผิดชอบต่อทูตและรัฐบาลอังกฤษหรือไม่อย่างไร และ ข้อโต้แย้งของตำรวจจราจรฝรั่งเศสชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด

แนวตอบ

          หลักกฎหมาย

          “เอกสิทธิ์์ทางทูต” เป็นสิทธิพิเศษของรัฐผู้รับที่ให้แก่ผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่งตามทางปฏิบัติระหว่างประเทศอันเป็นประเพณีนิยม
โดยอาศัยหลักอัธยาศัยไมตรีและการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันเป็นมูลฐาน
สิทธิพิเศษเช่นว่านี้อาจเป็นการให้ประโยชน์หรือให้ผลปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ
เช่น การให้สิทธิผู้แทนทางทูตมีโบสถ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
การให้เกียรติในงานพิธี อาทิ การยิงสลุตให้ในเมื่อกองเรือรบของรัฐผู้ส่งเข้าไปในเมืองท่าของรัฐผู้รับ
เป็นต้น
หรืออาจเป็นการยกเว้นไม่ให้ต้องปฏิบัติการหรือไม่ให้ต้องรับภาระอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น
การยกเว้นไม่ต้องให้ผู้แทนทางทูตต้องปฏิบัติการในฐานะของคนต่างด้าวในรัฐผู้รับ
การยกเว้นภาษีอากรให้แก่ผู้แทนทางทูต เป็นต้น

          ส่วน “ความคุ้มกันทางทูต”
นั้นเป็นสิทธิของรัฐผู้ส่งหรือที่รัฐผู้ส่งมีอยู่ในตัวตามกฎหมายระหว่างประเทศ
และพึงสังเกตไว้ด้วยว่า ความคุ้มกันเป็นสิทธิของรัฐผู้ส่ง
ไม่ใช่ของผู้แทนทางทูตของรัฐผู้ส่ง
การสละความคุ้มกันจึงให้รัฐผู้ส่งเป็นผู้สละ ผู้แทนทางทูตจะสละเสียเองหาได้ไม่
ความคุ้มกันเช่นว่านี้
เป็นการยกเว้นให้ผู้ได้รับปลอดหรือหลุดพ้นจากอำนาจหรือภาระอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น ความคุ้มกันจากการจับกุม กักขังหรือจำขัง
ความคุ้มกันจากอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล
หรือจากการถูกฟ้องร้องคดียังโรงศาลของรัฐผู้รับ

          เอกสิทธิ์ทางทูตได้แก่ เอกสิทธิ์ทางด้านภาษีอากร และค่าธรรมเนียม
หรือค่าภาระที่เรียกเก็บในรัฐผู้รับ เอกสิทธิ์์เกี่ยวกับภาษีรายได้
แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
เอกสิทธิ์ทางด้านภาษีที่เกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทน
กับเอกสิทธิ์ทางด้านภาษีของบุคคลในคณะผู้แทน

          เอกสิทธิ์์ทางด้านภาษีเกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทนนั้น โดยหลักแล้ว
สถานที่ของคณะผู้แทนซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐผู้ส่งหรือบุคคลที่ทำในนามของรัฐผู้ส่ง
ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการ ย่อมถูกยกเว้นจากการเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่
หรือภาษีที่เกี่ยวกับการซื้อขาย

ข้อยกเว้นที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ
ดังต่อไปนี้คือ

          (ก) ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว
ภาษีประเภทนี้เป็นภาษีที่บวกเข้าไปในราคาสินค้า เช่น ภาษีสินค้าของฟุ่มเฟือย
เป็นต้น สำหรับภาษีทางอ้อมนี้ ตัวแทนทางการทูตมิได้รับการยกเว้นภาษี

          (ข) ค่าติดพัน
และภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนตัวซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตของรัฐผู้รับนอกจากตัวแทนทางการทูตครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นไว้  ในนามของรัฐผู้ส่งเพื่อความมุ่งประสงค์ของคณะผู้แทน

          (ค) อากรกองมรดก การสืบมรดก หรือการรับมรดกซึ่งรัฐผู้รับเรียกเก็บ

          (ง) ค่าติดพัน และภาษีจากเงินได้ส่วนตัว ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในรัฐผู้รับ
และภาษีเก็บจากเงินทุนซึ่งได้ลงทุนประกอบการพาณิชย์ในรัฐผู้รับ

          (จ) ค่าภาระซึ่งเรียกเก็บสำหรับบริการจำเพาะที่ได้ให้

          (ฉ) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมศาล หรือสำนวนความ
ค่าติดพันในการจำนอง และอากรแสตมป์ ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

          นอกจากนี้ยังมีเอกสิทธิทางด้าน
เสรีภาพในการคมนาคมสื่อสาร และ
เอกสิทธิความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะไม่ถูกจับกุม คุมขังไม่ว่ารูปแบบใด ให้รัฐผู้รับปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูตด้วยความเคารพตามสมควร
และดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวลที่จะป้องกันการประทุษร้ายใดต่อตัวบุคคล เสรีภาพ
หรือเกียรติของตัวแทนทางการทูต”
เอกสิทธินี้ให้ความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคลโดยเด็ดขาด และไม่จำกัดขอบเขต คือหมายความ
ครอบคลุมถึงการกระทำทุกประการ
ไม่จำกัดเฉพาะแต่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการของตัวแทนทางการทูตเท่านั้น

          สำหรับความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทน
หรือความละเมิดมิได้เกี่ยวกับสถานที่ทำการของผู้แทนทางการทูต
เป็นหลักกฎหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป จากหลักดังกล่าวก่อให้เกิดภาระหน้าที่แก่รัฐผู้รับคือ
รัฐผู้รับจะต้องงดเว้นการกระทำที่เป็นสภาพบังคับ เช่น
การบุกรุกเข้าในสถานทูตเพื่อกระทำการบางอย่าง
และในขณะเดียวกันรัฐผู้รับก็จะต้องให้ความคุ้มครองแก่สถานที่ดังกล่าวด้วย
ความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานที่นี้ มิได้หมายความถึงสถานที่ตั้งของคณะผู้แทนทางการทูตแต่อย่างเดียว
แต่รวมถึงที่อยู่ส่วนตัวของผู้แทนทางการทูตด้วย
ความคุ้มกันในสถานที่นี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คณะผู้แทนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะเข้าไปในสถานที่ทำการทางการทูต เพื่อปฏิบัติการควบคุม
จับกุมบุคคลในสถานทูตเพื่อตรวจค้นเอกสาร
เว้นเสียแต่ได้รับความยินยอมจากหัวหน้าคณะผู้แทน

 

วินิจฉัย

          การที่นายเจฟฟรี
เอกอัครราชทูต ชาวอังกฤษ ประจำประเทศ ฝรั่งเศส
ได้นำรถยนต์ส่วนตัวของตนไปจอดอยู่ที่ ถนน ชองเอลิเซ่ ซึ่งเป็นที่ห้ามจอด และได้ถูกตำรวจจราจรฝรั่งเศสจับ
และถูกปรับ
นายเจฟฟรีโต้แย้งว่าตนเป็นทูตได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต
จะไม่ถูกจับ หรือ ปรับแต่ประการใด แต่ตำรวจฝรั่งเศสก็โต้แย้งว่า   นายเจฟฟรี
ไม่ได้กำลังปฏิบัติหน้าที่ทูต ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวและใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วย
จึงไม่รับฟังนั้นไม่ชอบเพราะกฎหมายการทูตกำหนดให้เอกสิทธิความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะไม่ถูกจับกุม
คุมขังไม่ว่ารูปแบบใด
และให้รัฐผู้รับปฏิบัติต่อตัวแทนทางทูตด้วยความเคารพตามสมควร
และดำเนินการที่เหมาะสมทั้งมวลที่จะป้องกันการประทุษร้ายใดต่อตัวบุคคล เสรีภาพ
หรือเกียรติของตัวแทนทางการทูต
เอกสิทธินี้ให้ความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคลโดยเด็ดขาด และไม่จำกัดขอบเขต
คือหมายความ ครอบคลุมถึงการกระทำทุกประการ
ไม่จำกัดเฉพาะแต่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการของตัวแทนทางการทูตเท่านั้น

 

สรุป

          รัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องรับผิดชอบต่อทูตและรัฐบาลอังกฤษ
และ
ข้อโต้แย้งของตำรวจจราจรฝรั่งเศสไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเอกสิทธิและความคุ้มกันในตัวบุคคลอันละเมิดมิได้นั้นเป็นเอกสิทธิเด็ดขาดไม่จำกัดเฉพาะแต่ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการของตัวแทนทางการทูตเท่านั้น อย่างไรก็ตามตัวทูตเองจะต้องมีสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเคารพต่อกฎหมายของรัฐผู้รับด้วย

วิเคราะห์

ข้อสอบข้อนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะประเมินความรู้ของนักศึกษา
เกี่ยวกับ เอกสิทธิ และความคุ้มกันทางการทูตว่านักศึกษามีความรู้
และสามารถวิเคราะห์ การปรับใช้หลักกฎหมายดังกล่าวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
นักศึกษาส่วนใหญ่สามารถตอบข้อสอบนี้ได้ แต่มีนักศึกษาบางส่วนที่ตอบผิดโดย
ตอบว่า
การกระทำของทูตที่ผิดกฎหมายในขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จะไม่ได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน
ซึ่งหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มกันนี้ในข้อนี้ต้องการที่จะให้ความคุ้มกันทูตแบบเด็ดขาด

 

 

 

ส่วนล่างของฟอร์ม

 

คำถาม


จงอธิบาย ความหมาย บ่อเกิด และที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศ
ตลอดจนอธิบาย องค์ประกอบของจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
และเปรียบเทียบความแตกต่างของบ่อเกิด และที่มาของกฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ
การมีผลบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ มีขึ้นได้อย่างไร รัฐในประชาคมระหว่างประเทศ ยอมผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศบนพื้นฐานใด
และมีมาตรการอย่างไรในการที่รัฐต่างๆจะดำเนินการในกรณีที่รัฐใดรัฐหนึ่งไม่ปฏิบัติตามพันธกิจ
หรือความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ จงเปรียบเทียบสภาพบังคับของกฎหมายทั้งสองระบบ

แนวตอบ 1
กฎหมายระหว่างประเทศคือ หลักกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับทั้งปวงของประชาคมระหว่างประเทศที่กำกับ
ควบคุมพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ อันประกอบด้วยรัฐซึ่งเป็นบุคคลภายในบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
(Subject of International Law) ที่เรียกว่าบุคคลระหว่างประเทศ
และองค์การระหว่างประเทศ ในความสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศดำรงอยู่ได้ด้วยความสันติสุข
รูปแบบของกฎหมายระหว่างประเทศมี 3 รูปแบบ
คือกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ หลักกฎหมายทั่วไป และกฎหมายในรูปของสนธิสัญญา
นอกจากนั้นกฎหมายยังแบ่งเป็น Lex Lata หรือ Law as it
is หรือ Positive Law ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
ที่เรียกว่า Hard Law อันเป็นกฎหมายที่แน่นอนตายตัวแล้ว กับ Lex
ferenda และ de lege ferenda หรือ Law
as it should be ที่หมายถึงกฎหมายที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นกฎหมายที่
เรียกว่า Soft Law ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่ยังไม่ตายตัว
สำหรับบ่อเกิดและที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศประกอบด้วยบ่อเกิด 5
ประการ ทั้งนี้ตาม มาตรา 38 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติไว้ว่าเมื่อจะปรับหลักกฎหมายเพื่อพิจารณาคดีให้พิจารณาหลักกฎหมายจากบ่อเกิด
หรือที่มาของกฎหมายดังต่อไปนี้มาวางเป็นหลักกฎหมายปรับกับคดี
1. จารีตประเพณีระหว่างประเทศ (International Customary Law)
2. หลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ (General Principles of
Law)
3. สนธิสัญญาระหว่างประเทศ (Treaty)
4. แนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Jurisprudence
of International instances)
5. งานเขียนของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไปในทางระหว่างประเทศ
(Doctrine of Publicists)
องค์ประกอบของบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้นวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน
จารีตประเพณีระหว่างประเทศเป็นกฎหมายที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร จารีตประเพณีระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
คือ องค์ประกอบด้านวัตถุ Material element ซึ่งหมายถึงทางปฏิบัติของนานาประเทศ
State Practice อันเกิดจากการมีตัวอย่างที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
Precedents เป็นทางปฏิบัติของรัฐทั้งหลายในแนวทางเดียวกันมามากพอที่จะทำให้เห็นได้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นรัฐจะถือปฏิบัติกันอย่างไร
พฤติการณ์ดังกล่าวต้องเป็นสิ่งที่รัฐมุ่งที่จะยึดถือเป็นแนวปฏิบัติต่อรัฐอื่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และยอมรับการปฏิบัติของรัฐอื่นๆต่อตนในทำนองเดียวกันด้วย นอกจากนี้ยังต้องมี องค์ประกอบด้านเวลา
Time element ซึ่งหมายถึงการที่รัฐได้ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานมาก
จนถือได้ว่าเป็นประเพณีในทางปฏิบัติของนานาชาติ ระยะเวลานั้นจะต้องมีความยาวนานเพียงใดขึ้นอยู่กับ
ปริมาณ และ ความถี่ของการเกิดมีกรณีตัวอย่างขึ้น นอกจากนี้ก็มีองค์ประกอบด้านจิตใจ
(Psychological element) อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดกล่าวคือ การมีความเชื่อมั่น
(Conviction) ของรัฐว่าจารีตประเพณีที่ปฏิบัตินั้นเป็นกฎหมาย
(Opinio Juris) หรือ Opinio Juris sive necessitatis รัฐปฏิบัติตามจารีตประเพณีเพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติ มิใช่ปฏิบัติไปเพียงเพราะมีความสะดวก
หรือเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น องค์ประกอบทั้งสามประการนี้ที่ทำให้จารีตประเพณีที่เป็นทางปฏิบัตินั้นมีฐานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
ส่วนความแตกต่างในเรื่องขององค์ประกอบกฎหมายภายใน และการบังคับการของกฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ
คือกฎหมายภายในมีการเกิดขึ้นตามกระบวนการกฎหมายภายในเช่นผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ หรืออาจจะวิวัฒนาการจากจารีตประเพณีเช่นกันก็ได้
จะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายภายใน มีองค์กรทางด้านนิติบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้อง
และการบังคับใช้กฎหมายก็จะมีองค์กรตามกฎหมายภายในที่ทำหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายผ่านกระบวนการทาง แต่กฎหมายระหว่างประเทศนั้นไม่มีองค์กรกลางที่จะบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายจึงต้องอาศัยเจตจำนงของรัฐในการยอมรับ
ปฏิบัติตาม และ มีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐที่เป็นกรอบเกณฑ์ในการกำหนดความรับผิดชอบของรัฐในกรณีที่กระทำผิดกฎหมาย
หรือละเมิดกฎหมาย นอกจากนั้นก็อาศัยกระบวนการทางการทูต การ Sanction
การตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และมาตรการ ต้น การที่รัฐใดถูกประณามในทางระหว่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงในประชาคมระหว่างประเทศ
จึงทำให้รัฐต่างๆพยายามที่จะดำรงตนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการดำเนิน
ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งทำให้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่ยอมรับปฏิบัติตามได้
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีบ่อเกิดมาจากสนธิสัญญา
ซึ่งรัฐแสดงเจตนารมณ์ผูกพันตนแล้ว ย่อมต้องปฏิบัติตามที่ตนได้ผูกพันไว้ จึงเป็นการทำให้กฎหมายได้รับการบังคับการให้ไปตามสนธิสัญญาได้
ถือว่ากฎหมายมีผลบังคับได้ในทางระหว่างประเทศ

คำถาม 2
เรือ NORTH STAR ของรัฐ A ได้เข้าไปลักลอบขายน้ำมันเถื่อนห่างจากฝั่งของประเทศ B ประมาณ 10 ไมล์ และถูกตรวจพบโดยเรือยามฝั่งของประเทศ
B ชื่อเรือ POLICE และได้สั่งให้เรือ NORTH
STAR หยุดเพื่อการตรวจค้น แต่เรือ NORTH STAR ไม่ยอมหยุด
และหนีออกไปนอกทะเลอาณาเขตรัฐ B เรือ POLICE จึงยิงขู่ให้หยุด แต่ไม่เป็นผลจึงได้แล่นติดตามทันทีอย่างกระชั้นชิด
แต่ไม่สามารถหยุดเรือ NORTH STAR ได้ จึงเรียกเรือ TANKER
จากฐานปฏิบัติการออกช่วยตามล่า และติดตามทันเรือ NORTH STAR และสั่งให้หยุดมิฉะนั้น จะถูกยิงจม แต่ไม่เป็นผล เรือ NORTH STAR จึงถูกเรือ TANKER ยิงจมลงทำให้เรือ
และสินค้าเสียหาย ลูกเรือเสียชีวิต จงวินิจฉัยว่าการกระทำครั้งนี้ของเรือรัฐ B
ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร
จงวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายระหว่างประเทศประกอบการวินิจฉัย
แนวตอบ 2
ประเด็นของคดี คือ การกระทำของเรือรัฐ B เป็นการชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ในเรื่องการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด
หลักกฎหมาย การไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิดตามกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องเป็นการเริ่มต้นภายในน่านน้ำอาณาเขตของรัฐ
B ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด
อนุสัญญากรุงเจนิวา ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติไว้ในข้อที่ 23
มีสาระสำคัญ คือ
1. การไล่ติดตามเรือต่างชาติอาจกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐชายฝั่งมีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อว่าเรือนั้นได้ละเมิดกฎหมายและข้อบังคับของรัฐนั้น
การไล่ติดตามเช่นว่าจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรือต่างชาติหรือเรือลำเล็กของเรือต่างชาติอยู่ภายในน่านน้ำภายในหรือทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องของรัฐที่ติดตามและอาจกระทำต่อไปถึงภายนอกทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องได้ถ้าหากการไล่ติดตามมิได้ขาดระยะลง
ไม่เป็นการจำเป็นว่า ในขณะเมื่อเรือต่างชาติซึ่งอยู่ภายในทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องได้รับคำสั่งให้หยุด
เรือที่ออกคำสั่งควรต้องอยู่ภายในทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ถ้าเรือต่างชาติอยู่ภายในเขตต่อเนื่อง
ดังที่นิยามไว้ในข้อ 24 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องการติดตามอาจกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการละเมิดสิทธิซึ่งเขตต่อเนื่องนั้นได้ถูกจัดตั้งขึ้นสำหรับคุ้มครองเท่านั้น
2. สิทธิในการไล่ติดตามสิ้นสุดลงในทันทีที่เรือซึ่งถูกติดตามเข้าสู่ทะเลอาณาเขตของประเทศอื่นหรือรัฐที่สาม
3. การไล่ติดตามจะไม่ถือว่าได้เริ่มต้นแล้ว นอกจากเรือทิ่ติดตามจะได้ทำให้เป็นที่พอใจแก่ตนเองโดยวิธีที่พึงปฏิบัติได้เช่นที่อาจมีอยู่ว่าเรือที่ถูกติดตามหรือเรือเล็กลำใดลำหนึ่งของเรือนั้นหรือเรืออย่างอื่นซึ่งทำงานร่วมกันและใช้เรือที่ติดตามเป็นเรือพี่เลี้ยงอยู่ภายในขอบเขตของทะเลอาณาเขต
หรือภายในเขตต่อเนื่อง แล้วแต่กรณี การติดตามอาจเริ่มต้นได้ต่อเมื่อได้ให้สัญญาให้หยุดที่เห็นได้ด้วยตาหรือฟังได้ด้วยหูในระยะห่างที่เรือต่างชาติจะสามารถเห็นหรือได้ยินสัญญาได้เท่านั้น
4. สิทธิในการไล่ติดตามอาจใช้ได้โดยเฉพาะเรือรบหรืออากาศยานทหาร หรือเรือหรืออากาศยานอื่นในราชการของรัฐบาล
ซึ่งได้รับมอบอำนาจเป็นพิเศษเพื่อการนั้นเท่านั้น
5. ในกรณีที่ไล่ติดตามกระทำโดยอากาศยาน
1) บทบัญญัติแห่งวรรค 1 ถึง 3 ของข้อนี้จะใช้บังคับโดยอนุโลม
2) อากาศยานซึ่งออกคำสั่งให้หยุดต้องติดตามเรือนั้นอย่างจริงจังด้วยตนเองจนกระทั่งเรือหรืออากาศยานของรัฐชายฝั่ง
ซึ่งอากาศยานนั้นได้เรียกมา มาถึงเพื่อรับช่วงการติดตาม เว้นแต่อากาศยานนั้นสามารถจับกุมเรือไว้ด้วยตนเอง
ไม่เป็นการเพียงพอที่จะอ้างเหตุสนับสนุนการจับกุมในทะเลหลวงว่าอากาศยานเพียงแค่ได้เห็นเรือว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำผิดเท่านั้น
หากเรือนั้นมิได้ถูกสั่งให้หยุดและถูกติดตามโดยอากาศยานนั้นเองหรืออากาศยานหรือเรืออื่นซึ่งทำการติดตามต่อไปโดยไม่ขาดระยะ
6. การเรียกร้องของรัฐเจ้าของเรือให้ปล่อยเรือที่ถูกจับกุมภายในเขตอำนาจของรัฐหนึ่งและถูกควบคุมไปยังเมืองท่าของรัฐนั้นเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมิอาจกระทำได้โดยเพียงอาศัยเหตุที่ว่า
ในระหว่างการเดินทางเรือนั้นได้ถูกควบคุมผ่านส่วนหนึ่งของทะเลหลวงถ้าพฤติการณ์ทำให้จำเป็นต้องกระทำดังนั้น
7. ในกรณีเรือถูกสั่งให้หยุดหรือถูกจับกุมในทะเลหลวงในพฤติการณ์ซึ่งไม่มีเหตุสมควรในการใช้สิทธิไล่ติดตาม
เรือนั้นจะได้รับการทดแทนสำหรับความสูญเสียหรือความเสียหายใดที่อาจได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยการกระทำนั้น
เมื่อกล่าวโดยสรุป การไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด คือ สิทธิของรัฐชายฝั่งที่จะไล่ติดตามเรือต่างชาติหรือเรือเล็กลำหนึ่งของเรือต่างชาติซึ่งได้กระทำความผิดหรือมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าได้กระทำความผิดและอยู่ในน่านน้ำภายใน
ในทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องของรัฐชายฝั่ง ความสำคัญของสิทธิดังกล่าวนี้อยู่ที่การไล่ติดตามนั้นต้องไล่ติดตามทันทีทันใดที่เรือดังกล่าวได้แล่นหนี
และการไล่ติดตามนี้จะขาดตอนลงมิได้ซึ่งถ้าการไล่ติดตามนี้ได้ขาดตอนลงแล้ว จะเริ่มดำเนินการไล่ติดตามอีกไม่ได้การไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิดอาจมีได้ทั้งทางเรือและอากาศยานด้วย
วินิจฉัยได้ว่า เรือ North Star ของรัฐ A
ได้เข้าไปลักลอบขายน้ำมันเถื่อนห่างจากรัฐ B ประมาณ
10 ไมล์ ซึ่งถือว่าเป็นทะเลอาณาเขตของรัฐ B และการกระทำผิดดังกล่าวถูกตรวจโดยเรือยามฝั่งซึ่งเป็นเรือราชการของรัฐ B
ซึ่งเป็นไปตามองค์ประกอบของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดว่าการไล่ติดตามเรือต่างชาติกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐชายฝั่งมีเหตุผลสมควรที่จะเชื่อว่าเรือนั้นได้ละเมิดกฎหมายและข้อบังคับของรัฐนั้น
และการติดตามต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรือต่างชาติอยู่ในทะเลอาณาเขต จากข้อเท็จจริงเรือ
Police ได้สั่งให้เรือ North Star หยุดการตรวจค้นตั้งแต่ในทะเลอาณาเขต
เพราะมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย กล่าวคือการขายน้ำมันเถื่อนในทะเลอาณาเขต
ดังนั้น เมื่อเรือ North Star ขัดขืนแล่นหนีไปนอกทะเลอาณาเขต
เรือ Police ก็ติดตามไปทันทีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่เมื่อเรือ Police ไม่สามารถสกัดจับได้ และเรียกเรือ Tanker
เข้าช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรือราชการเช่นกันจนติดตามเรือ North
Star ทัน ถือว่าเป็นการกระทำ โดยต่อเนื่องกันกับเรือ Police ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การจมเรือ North Star นั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐ B จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจมเรือและค่าทรัพย์สินในเรือ
และชดใช้ในการทำให้ลูกเรือ North Star เสียชีวิต ทั้งนี้ เพราะการจมเรือไม่อยู่ในองค์ประกอบของการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด
สรุปได้ว่าการกระทำของเรือรัฐ B มีสิทธิกระทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ในเรื่องการติดตามอย่างกระชั้นชิด ที่กระทำต่อเรือรัฐต่างชาติที่เชื่อว่าเข้ามากระทำความผิดในทะเลอาณาเขตของรัฐ
B แต่เรือรัฐ B ไม่มีสิทธิจมเรือ รัฐ A
ทำให้เสียหายต่อเรือ ทรัพย์สิน และชีวิตลูกเรือของรัฐ A รัฐ B จึงต้อง
ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้

 

คำถาม 3
แจ็ค คนสัญชาติอังกฤษ แต่มีภูมิสำเนาอยู่ในประเทศไทย
แจ็คประสงค์จะทำการสมรสกับสายสมร คนสัญชาติไทย ในประเทศไทย แต่ในการสมรสของทั้งสองคนมีปัญหาในเรื่องเงื่อนไขในการสมรส
ซึ่ง ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 กำหนดเงื่อนไขในการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย
สำหรับแจ๊คซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษต้องใช้กฎหมายอังกฤษ แต่ปรากฏว่ากฎหมายอังกฤษในเรื่องการขัดกันแห่งกฎหมายกำหนดให้เงื่อนไขของการสมรสของคนอังกฤษ
ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา
จงอธิบายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การย้อนส่งในกฎหมายระหว่างประเทศ และนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับกรณีปัญหาข้างต้น

แนวตอบ 3
หลักเกณฑ์การย้อนส่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ การที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งประเทศหนึ่ง
กำหนดให้ใช้กฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง แต่กฎหมายของประเทศหลังนี้ย้อนส่งกลับมาให้ใช้กฎหมายของประเทศแรก
หรือย้อนส่งไปให้ใช้กฎหมายของประเทศที่สามบังคับแก่กรณี
ตามประเด็นปัญหา สาเหตุในการเกิดการขัดกันของหลักเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเนื่องจากหลักเกณฑ์แห่งการขัดกันของกฎหมายประเทศหนึ่ง
แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์แห่งการขัดกันของกฎหมายอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งกรณีตามปัญหาเกิดจากหลักเกณฑ์แห่งการขัดกันตามกฎหมายไทย
แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์แห่งการขัดกันของกฎหมายอังกฤษ โดยที่พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ
กำหนดให้ใช้กฎหมายสัญชาติของคู่กรณี ซึ่งตามข้อเท็จจริงการที่ แจ็ค
คนสัญชาติอังกฤษและสายสมรคนสัญชาติไทย ในกรณีนี้กฎหมายอังกฤษกำหนดให้ใช้กฎหมายตามที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา
นั่นก็คือแจ็คมีภูมิลำเนาในประเทศไทย จึงเป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการขัดกันของต่างประเทศคือ
ประเทศอังกฤษได้ย้อนส่งกลับมาใช้กฎหมายไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมายฯ
มาตรา 4 ได้ยอมรับการย้อนส่งกลับหรือให้รับการย้อนส่งกลับไว้
และให้ใช้กฎหมายภายในของประเทศไทย คือ กฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับแก่คดีนั้นได้ทันที
โดยมิต้องอาศัยหลักหรือกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมายฯ มาพิจารณาอีก
อันถือได้ว่าเป็นการบัญญัติเพื่อให้การย้อนส่งสิ้นสุดลงเพียงนั้น

คำถาม 4
ทฤษฎีมูลฐานทางกฎหมายของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตที่สำคัญฯ มีทฤษฎีใดบ้าง
จงอธิบาย
แนวตอบ 4
ทฤษฎีสำคัญซึ่งเป็นมูลฐานของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตมี 3
ทฤษฎี ได้แก่
1. ทฤษฎีลักษณะตัวแทนของผู้แทนทางการทูต ทฤษฎีนี้ถือว่าผู้แทนทางการทูตเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์
หากล่วงละเมิดทูตก็เท่ากับว่าเป็นการก่อความเสียหายแก่เกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ส่งทูตไปประจำนั่นเอง
ดังนั้นผู้แทนทางการทูตจึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจพระมหากษัตริย์ของรัฐที่ตนถูกส่งไปประจำ
2. ทฤษฎีสภาพนอกอาณาเขต
ทฤษฎีนี้ถือว่าสถานทูตเป็นดินแดนของรัฐผู้ส่ง จึงถือเสมือนว่า ผู้แทนทางการทูตอยู่นอกอาณาเขตของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่
ด้วยเหตุนี้ผู้แทนทางการทูตจึงไม่จำต้องอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐผู้รับ
3. ทฤษฎีประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ทฤษฎีนี้ถือว่ามูลฐานของเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
ทางการทูตมิใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้แทนทางการทูตเอง หากแต่เป็นความจำเป็นเพื่อประกันการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนทางการทูตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นทฤษฎีนี้ยังมีหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ซึ่งมีหลักปฏิบัติว่า
หากรัฐหนึ่งรัฐใดปฏิบัติต่อรัฐอื่น ๆ เช่นไร ผู้แทนทางการทูตของรัฐนั้นก็ย่อมได้รับการปฏิบัติตอบในทำนองเดียวกันนั้นจากรัฐอื่น

คำถาม 5
จงอธิบายผลทางกฎหมายระหว่างประเทศของการที่ประเทศ SUN SHINE เข้าโจมตีประเทศ SUN SET โดยอ้างว่าประเทศ SUN
SET มีการสะสมอาวุธสงครามที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก เช่น
อาวุธชีวภาพ สารเคมี อาวุธนิวเคลียร์ โดยการขอมติจากสหประชาชาติ
พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบการอธิบาย และวิเคราะห์ด้วย

แนวตอบ 5

หลักกฎหมาย กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดเกี่ยวกับกลไก
และมาตรการต่างๆในการรักษาสันติภาพของโลก โดยบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ดังต่อไปนี้
มาตรา 2 (3) สมาชิกทั้งปวง จะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธีในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและความยุติธรรม
(4). ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจักต้องละเว้นการคุกคามหรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต
หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหประชาชาติ
มาตรา 35 (1).สมาชิกใดๆของสหประชาชาติอาจนำกรณีพิพาทใดๆ
หรือสถานการณ์ใดๆตามลักษณะที่กล่าวถึงในมาตรา 34 มาเสนอคณะมนตรีความมั่นคง
หรือสมัชชาได้
(2).รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ อาจนำกรณีพิพาทใดๆ ซึ่งตนเป็นฝ่ายนำมาเสนอคณะมนตรี
ความมั่นคงหรือสมัชชาได้ ถ้ารัฐนั้นยอมรับล่วงหน้าซึ่งข้อผูกพันแห่งการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันเป็นความมุ่งหมายในการระงับข้อพิพาท
มาตรา 34 กฎบัตรสหประชาชาติ บัญญัติไว้ว่า
คณะมนตรีความมั่นคง อาจสืบสวนกรณีพิพาทใดๆ หรือ สถานการณ์ใดๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การกระทบกันระหว่างประเทศ
หรือก่อให้เกิดกรณีพิพาท เพื่อกำหนดลงไปว่าการดำเนินอยู่ต่อไปของกรณีพิพาท หรือสถานการณ์นั้นๆน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
มาตรา 33 (1). ผู้เป็นฝ่ายในกรณีพิพาทใดๆ ซึ่งหากดำเนินอยู่ต่อไปน่าจะเป็นอันตรายแก่การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
และความมั่นคงระหว่างประเทศ ก่อนอื่นจักต้องแสวงหาการแก้ไข โดยการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย
การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาทโดยทางศาล การหันเข้าอาศัยทบวงการตัวแทน
หรือการตกลงส่วนภูมิภาค หรือสันติวิธีประการอื่นใดที่คู่กรณีอาจจะพึงเลือก
(2).เมื่อเห็นว่าจำเป็น คณะมนตรีความมั่นคงจักเรียกร้องให้คู่พิพาทระงับกรณีพิพาทของตนโดยวิธีเช่นว่านั้น
มาตรา 36 (3).ในการทำคำแนะนำตามมาตรานี้
คณะมนตรีความมั่นคงชอบที่จะพิจารณาด้วยว่า กรณีพิพาทในทางกฎหมายนั้น ตามหลักทั่วไปควรให้คู่พิพาทเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญของศาลนั้น
มาตรา 37 (1).หากผู้เป็นฝ่ายแห่งกรณีพิพาทอันมีลักษณะตามที่กล่าวถึงในมาตรา
33 ไม่สามารถระงับกรณีพิพาทโดยวิธีที่ได้ระบุไว้ในมาตรานี้แล้ว
ก็ให้ส่งเรื่องนั้นไปเสนอคณะมนตรีความมั่นคง
(2).ถ้าคณะมนตรีความมั่นคง เห็นว่า โดยพฤติการณ์ การดำเนินต่อไปแห่งกรณีพิพาทน่าจะเป็นอันตรายต่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแล้วก็ให้วินิจฉัยว่าจะดำเนินการตามมาตรา
36 หรือจะแนะนำข้อตกลงระงับกรณีพิพาทเช่นที่จะพิจารณาเห็นเหมาะสม
มาตรา 41 คณะมนตรีความมั่นคง
อาจวินิจฉัยว่าจะต้องใช้มาตรการอันใดอันไม่มีการใช้กำลังอาวุธ เพื่อยังผลให้เกิดคำวินิจฉัยของคณะมนตรี
และอาจเรียกร้องให้สมาชิกแห่งสหประชาชาติใช้มาตรการเช่นว่านั้น มาตรการเหล่านี้อาจรวมถึงการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
และการคมนาคมทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิถีทางคมนาคมอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง
หรือแต่บางส่วน และการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
มาตรา 42 หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่ามาตรการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
41 ไม่น่าจะเพียงพอ หรือได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ คณะมนตรีก็อาจดำเนินการใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน เช่นที่เห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพ
และความมั่นคงระหว่างประเทศ การดำเนินการเช่นว่านี้อาจรวมถึงการแสดงแสนยานุภาพ การปิดล้อม
และการปฏิบัติการอย่างอื่น โดยกำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดินของบรรดาสมาชิกสหประชาชาติ
วินิจฉัยได้ว่าโดยหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศจะต้องอยู่ด้วยกันโดยสันติวิธี
และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังระหว่างกัน อีกทั้งต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างกันโดยสันติวิธีก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการใดๆที่จะเป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก
ทั้งนี้ตามมาตรา 2 ประกอบมาตรา 33 วรรค
1 ของกฎบัตรสหประชาชาติ กรณีจากข้อเท็จจริง โดยหลักการแล้ว
การที่ประเทศ SUN SHINE จะยกกองกำลังเข้าโจมตีประเทศ SUN
SET ได้นั้นพึงต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติในทุกขั้นตอนเสียก่อน
ก่อนที่จะมีการใช้กำลังกัน ทั้งนี้โดยกลไกของสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพของโลก ได้เปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ
(มาตรา 35 วรรค 1) หรือแม้แต่รัฐอื่นใดที่ไม่ใช่สมาชิก
(มาตรา 35 วรรค 2) สามารถที่จะเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคง
หรือสมัชชาใหญ่ (มาตรา 11 ประกอบมาตรา 35) ให้ความสนใจและเข้าไปตรวจสอบกรณีใดๆที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่สันติภาพของโลก
ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงจะดำเนินการตรวจสอบ (มาตรา 34) แล้วอาจจะมีมติว่ามีการคุกคามต่อสันติภาพของโลกหรือไม่
(มาตรา 39) และจะทำคำวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการตามมาตรา 41
และ 42 เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
นอกจากนั้นในระหว่างที่การตรวจสอบยังไม่เรียบร้อย และเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป
คณะมนตรีความมั่นคงอาจจะเรียกร้องให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอนุวัตรการตามมาตรการชั่วคราวที่เห็นจำเป็น
ก่อนที่จะทำคำแนะนำก็ได้ (มาตรา 40) และหากการพิพาทเป็นกรณีข้อพิพาททางกฎหมายก็จะต้องยุติข้อพิพาทโดยทางศาล
(มาตรา 36 วรรค 3) ส่วนทางปฏิบัติของรัฐในการยุติข้อพิพาทย่อมต้องดำเนินการตามมาตรา
41 เป็นเบื้องต้น โดยวิธีการใดๆที่กำหนดไว้ เช่น
การตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การคมนาคม และทางการทูต ก่อนที่จะหันไปใช้กำลัง
ซึ่งอาจะเป็นไปตามมาตรา 42 หรือรัฐคู่พิพาทใช้กำลังระหว่างกัน
แต่จะต้องเป็นการใช้กำลังโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป ในกรณีของรัฐสมาชิกสหประชาชาติการจะใช้กำลังของรัฐนั้นต้องเป็นกรณีที่รัฐคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง
ไม่ปฏิบัติตามมติสหประชาชาติ หรือตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ หรือคำพิพากษาของศาล หรือเพิกเฉยต่อการแสดงความรับผิดชอบต่อรัฐที่เสียหายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากทุกรัฐดำเนินการ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามกลไกของสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพของโลกโดยบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคง
และสมัชชาใหญ่สหประชาชาติแล้ว โอกาสที่จะมีการทำสงคราม หรือการใช้กำลังระหว่างกันย่อมเกิดขึ้นได้น้อยมาก
การโจมตีประเทศ SUN SET โดยประเทศ SUN SHINE นั้น หากพิจารณาตามขั้นตอนแห่งกฎบัตรสหประชาชาติแล้วจะพบว่ายังไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนต่างๆโดยชอบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
คณะมนตรีความมั่นคงยังไม่ได้ยืนยันผลการตรวจสอบ และทำคำวินิจฉัย หรือคำแนะนำ เพื่อแจ้งให้ประเทศ
SUNSHINEดำเนินการอย่างไรต่อไป
สรุปได้ว่า ประเทศ SUN SHINE ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย
และหลักเกณฑ์ ตลอดจนกลไกของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างสมบูรณ์เป็นการใช้กำลังโดยไม่ชอบ

 

 

คำถาม 6
จงอธิบายความหมายของคำว่า “COMMON HERITAE OF MANKIND” หรือ ทรัพย์มรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และอธิบายสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการกำหนดให้มีบริเวณดังกล่าวตามกฎหมายทะเล
พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกำหนดบริเวณทรัพย์มรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติได้อย่างไร

แนวตอบ 6
คำว่า “COMMON HERITAGE OF MANKIND” หรือ ทรัพย์มรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
นั้น หมายถึง พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินภายนอกเขตของรัฐ และทรัพยากรทั้งมวลในบริเวณนี้ตกเป็นมรดกตกทอดร่วมกันของมนุษยชาติ
ทั้งนี้เป็นไปตาม ข้อมติที่ 2749 (XXV) ของสมัยประชุมที่ 25
ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ลงวันที่ 17 ธันวาคม 1970 ซึ่งพัฒนามาจากหลักการตามคำประกาศของนายอาวิด
ปาร์โด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 แนวคิดเรื่องการกำหนดเขตทรัพยากรร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
มีเหตุผลที่สำคัญคือเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐที่ถือว่าอยู่ในโลกที่สาม ซึ่งต้องการทรัพยากรธรรมชาติมาพัฒนาประเทศให้พ้นจากสภาพที่เป็นอยู่
โดยพยายามให้มีการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสันนิษฐานว่ามีอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณเขตพื้นดินท้องทะเล
และดินใต้ผิวดิน และเนื่องด้วยเขตดังกล่าวเป็นเขตที่อยู่นอกอำนาจอธิปไตยของรัฐใดๆ ย่อมเป็นเขตที่รัฐต่างๆ
อาจจะเข้าแสวงหาประโยชน์ได้โดยเสรี แต่จากเหตุผลในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในความสามารถทางเทคโนโลยี
ทำให้รัฐที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปแสวงหาทำประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวได้
ดังนั้นหากไม่มีการกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณทรัพย์มรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติทั้งปวงแล้ว
ทรัพยากรเหล่านี้คงไม่พ้นที่จะตกเป็นของประเทศมหาอำนาจที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีเท่านั้น
ประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาทั้งหลายก็จะไม่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากบริเวณดังกล่าวได้เลย
ทั้งๆที่เป็นทรัพยากรที่รัฐทั้งปวงควรเป็นเจ้าของร่วมกัน กล่าวคือทรัพยากรในบริเวณพื้นดินท้องทะเลสากล
นั้นจะต้องอำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกรัฐ นับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกฎหมายทะเลต่อวงการของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
และการพัฒนา
ดังนั้นพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกรัฐการกำหนดให้บริเวณเขตพื้นดินท้องทะเล
และดินใต้ผิวดินเป็นบริเวณทรัพย์มรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น และชอบด้วยเหตุผล
และต่อมาได้มีการกำหนดหลักการดังกล่าว บัญญัติไว้ในภาคที่ 11 ของอนุสัญญามองเตโกเบย์ ปี ค.ศ. 1982 เพื่อให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรในบริเวณนี้
ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา และเพื่อให้มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับบริเวณดังกล่าว
จึงได้มีการจัดตั้งองค์กร การทรัพยากรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ
ประกอบด้วยองค์กรหลักได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรี และสำนักเลขาธิการ
โดยมีรัฐภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ เป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่
จาไมกา
อย่างไรก็ตามการจะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นย่อมเป็นสิ่งที่มีความยากยิ่งนัก
เนื่องจากข้อมติที่ 2749 นั้นไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย
และอนุสัญญามองเตโกเบย์ ในส่วนนี้ก็ยังไม่มีการบังคับใช้ อีกทั้งประเทศมหาอำนาจทั้งหลายโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ไม่ยอมรับหลักการดังกล่าว โดยยืนยันที่จะต้องมีการลงทุนร่วมกัน หากไม่มีการลงทุนก็ไม่ควรได้รับการปันส่วนผลประโยชน์
ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาไม่มีกำลังที่จะร่วมทุนได้ ความหวังที่จะให้หลักการนี้เป็นจริงจึงต้องเป็นเรื่องของความใจกว้างของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้
ที่จะเสียสละ และแบ่งปันแก่รัฐที่ด้อยกว่า อีกทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ย่อมต้องไม่ใช่ลักษณะที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้สูญเสียผลประโยชน์มากมายนัก
จึงเป็นประเด็นที่จะต้องพัฒนาต่อไป


คำถาม 7
นายจอห์นและนางริต้า เป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยทั้งคู่สมรสกันที่ประเทศอังกฤษ
นายจอห์นมีสัญชาติอังกฤษ และนางริต้าเดิมมีสัญชาติอเมริกัน
เมื่อสมรสแล้วนางริต้าได้ใช้สัญชาติอังกฤษของสามี ต่อมานายจอห์นและนางริต้าเข้ามาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและส่งสินค้าออกทางด้านสิ่งทอในประเทศไทยไปจำหน่ายในตลาดประชาคมยุโรป
โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ต่อมานายจอห์นได้รับอุบัติเหตุถูกรถชนจนสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนวิกลจริต
นางริต้าจะต้องดำเนินการอย่างไร และศาลของประเทศใดมีอำนาจสั่งให้นายจอห์นเป็นบุคคลไร้ความสามารถ
หากตามกฎหมายอังกฤษการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนวิกลจริตนั้น เป็นเหตุให้ร้องขอให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลไร้ความสามารถได้
และนางริต้าสามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยแทนสามีต่อไปได้หรือไม่

แนวตอบ 7
หลักกฎหมาย ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
กำหนดว่า เงื่อนไขในการที่จะสั่งให้คนต่างด้าวนั้นอยู่ในความอนุบาล หรืออยู่ในความพิทักษ์แล้วแต่กรณีนั้น
ศาลไทยจะสั่งดังกล่าวประการใดประการหนึ่งได้ต่อเมื่อ
1. คนต่างด้าวนั้นมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย
2. ตามกฎหมายสัญชาติของคนต่างด้าวนั้น
มีเหตุที่จะสั่งให้อยู่ในความอนุบาล หรืออยู่ในความพิทักษ์ประการใดประการหนึ่งได้
3. ตามกฎหมายไทย ศาลสั่งให้อยู่ในความอนุบาล หรืออยู่ในความพิทักษ์โดยอาศัยเหตุเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย ได้ว่ากรณีตามข้อเท็จจริง นายจอห์นและนางริต้า
ซึ่งเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้สมรสกันที่ประเทศอังกฤษ และนายจอห์นมีสัญชาติอังกฤษส่วนนางริต้าเมื่อสมรสแล้วได้ใช้สัญชาติอังกฤษตามสามี
บุคคลทั้งสองจึงมีสัญชาติอังกฤษ กฎหมายสัญชาติของบุคคลทั้งสองคือกฎหมายอังกฤษ แต่ต่อมาทั้งคู่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย
เป็นเวลาถึง
5 ปีแล้ว โดยได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าสิ่งทอจากประเทศไทยไปจำหน่ายยังตลาดประชาคมยุโรป
นั้น การเข้ามามีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง มีการประกอบอาชีพเป็นหลักฐานที่มั่นคง และเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานานถึง
5 ปี แล้วนั้น ถือได้ว่าบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยแล้วทั้งนี้ตามมาตรา
37 และ 38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติว่า ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ
และ ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกันไป หรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่ง
ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น ดังนั้น นายจอห์นและนางริต้ามีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติในประเทศไทย
ถึงแม้จะเคยอยู่ที่ประเทศอังกฤษมาแล้วก็ตาม หรือแม้จะเดินทางไป มา สับเปลี่ยนกันไป
ก็ตาม บุคคลทั้งสองจึงมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว
และการที่นายจอห์นได้รับอุบัติเหตุสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงจนวิกลจริตเป็นเหตุให้สามารถร้องขอให้เป็นบุคคลไร้ความสามรถได้ตามกฎหมายอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของบุคคลทั้งสองนั้น
ในขณะเดียวกัน เหตุดังกล่าวก็สามารถร้องขอให้เป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถได้ตามกฎหมายไทย
ทั้งนี้ตาม มาตรา 28 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งกำหนดเหตุที่จะร้องขอให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถได้
คือการเป็นบุคคลที่วิกลจริต ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดๆก็ตามหากทำให้บุคคลนั้นวิกลจริต
ดังนั้นนางริต้าในฐานะคู่สมรสจึงสามารถร้องขอให้ศาลไทยสั่งให้นายจอห์น สามี เป็นคนไร้ความสามารถได้
และนางริต้าในฐานะคู่สมรสย่อมเป็นผู้อนุบาลนายจอห์นได้ตามมาตรา 28 วรรค 2 และสามารถประกอบธุรกิจต่างๆแทนนายจอห์น
สามีได้ ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลที่ไร้ความสามารถไม่สามารถกระทำนิติกรรมใดๆได้ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำแทน
สรุป โดยหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
เมื่อพิจารณาปรับกับข้อเท็จจริงจากโจทย์ จึงพิจารณาได้ว่า
นางริต้าสามารถร้องขอต่อศาลไทยให้สั่งให้นายจอห์น สามี เป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ
ตามหลักกฎหมายขัดกัน พ.ศ. 2481 ประกอบกับหลักกฎหมายสารบัญญัติของไทย
(Applicable Law) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ และนางริต้าสามารถประกอบธุรกิจแทนสามีในประเทศไทยต่อไปได้

คำถาม 8
จงอธิบายผลทางกฎหมายของข้อมติในองค์การระหว่างประเทศ โดยจำแนกตามประเภทต่างๆของข้อมติ
และอธิบายความสัมพันธ์ของข้อมติกับการเกิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (The
International Customary Law)

แนวตอบ 8
ข้อมติ (Resolution) ขององค์การระหว่างประเทศ
หมายถึงการแสดงเจตนารมณ์ขององค์การระหว่างประเทศ ออกมาในรูปลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องผ่านกระบวนวิธีการต่างๆตามที่ตราสารก่อตั้งขององค์การระหว่างประเทศได้ระบุไว้
เช่น ต้องมีการประชุมกันในองค์การโดยองค์ประชุมประกอบด้วยรัฐสมาชิกที่มีสิทธิเข้าประชุม
มีการถกเถียง อภิปราย เพื่อหาข้อสรุป ตามหัวข้อที่ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
มีการลงคะแนนเสียงตามวิธีการที่กำหนดไว้ว่าต้องอาศัยคะแนนเสียงโดยเอกฉันท์ เสียงข้างมากธรรมดา
หรือสียงข้างมากสองในสามภายหลังที่มีคะแนนเสียงแล้ว ก็จะมีมติออกมา ดังนั้น ข้อมติ
คือการแสดงเจตนารมณ์ที่มิใช่ของรัฐสมาชิก แต่เป็นข้อมติขององค์การระหว่างประเทศออกในนามขององค์การระหว่างประเทศ
ข้อมติอาจถูกเรียกว่า คำประกาศ (Declaration) คำวินิจฉัย
(Decision) คำเสนอแนะ (Recommendation) กฎบัตร (Charter) กฎข้อบังคับ (Regulation)
ปัญหาในเรื่องผลทางกฎหมายของข้อมติขององค์การระหว่างประเทศ คือ ข้อมติมีผลทางกฎหมายบังคับรัฐให้ปฏิบัติตามได้อย่างไรหรือไม่
รัฐเป็นอิสระที่จะเลือกปฏิบัติ หรือจำต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อมติเสมอหรือไม่
ปัญหาข้อกฎหมายนี้จะแล้วแต่ตราสารก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ และขึ้นอยู่กับสภาพหรือเนื้อหาของกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในข้อมตินั้นๆ
ประกอบกับว่าผู้รับผลทางกฎหมายแห่งข้อมตินั้นคือใคร และข้อมตินั้นออกมาจากองค์กรไหนขององค์การระหว่างประเทศ
ซึ่งสรุปได้ว่าผลทางกฎหมายของข้อมติขององค์การระหว่างประเทศแบ่งเป็นสองประเภทคือ
1. ข้อมติที่ออกมาโดยองค์กรภายในองค์การระหว่างประเทศ เพื่อแจ้งไปยังองค์กรอื่นขององค์การระหว่างประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศย่อมมีการบริหารงานภายในขององค์การระหว่างประเทศเอง
ย่อมต้องมีการออกกฎเกณฑ์เพ่อวางแนวทางปฏิบัติต่างๆทั้งในด้านระเบียบบริหารและในด้านงบประมาณในการปฏิบัติงานต่างๆ
องค์กรที่มีความรับผิดชอบจะต้องแสดงเจตนารมณ์ออกมา
และสั่งการต่างๆตามเจตนารมณ์นั้น และออกมาในรูปของมติต่างๆนั่นเอง ผลทางกฎหมายของข้อมตินั้นจึงต้องดูว่าออกมาจากองค์กรใดด้วย
และแจ้งไปยังองค์กรใด
ก. ถ้าหากข้อมตินั้นออกมาจากองค์กรที่มีอำนาจในการบริหารสูงกว่า แจ้งไปยังองค์กรที่ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา
มตินั้นย่อมมีผลทางกฎหมายบังคับแน่นอน กล่าวได้ว่ามติที่ออกจากองค์การหลัก
(Principal organ) ออกไปยังองค์กรย่อย (Subsidiary organ) เพื่อให้กระทำการ หรือจัดการงานอย่างไร ข้อมตินั้นย่อมมีผลทางกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น สมัชชาใหญ่มีข้อมติแจ้งไปยังคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ถึงแม้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นองค์กรหลักเช่นกันแต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของสมัชชาใหญ่
ทั้งนี้ปรากฏในหมวด 10 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อมติที่ออกไปยังคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ปฏิบัติการอย่างใดย่อมมีผลบังคับตามกฎหมาย
ข. ในทางตรงกันข้ามองค์กรย่อยที่มีที่มีลำดับการบังคับบัญชาต่ำกว่าออกมติไปยังองค์กรที่สูงกว่าย่อมไม่มีผลบังคับก่อพันธะกรณีความผูกพัน
แต่หากเป็นคำพิพากษาก็มีผลบังคับทางกฎหมายในตัวเองเช่นคำพิพากษาของศาลปกครองในสหประชาชาติ
แม้จะเป็นองค์กรย่อยที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติก็มีผลบังคับแม้กับสมัชชาใหญ่เพราะคำพิพากษามีสภาพบังคับในตัว
ค. ข้อมติขององค์กรหนึ่งที่ออกแจ้งไปยังองค์กรต่างๆที่มีความเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน
มีฐานะเท่าเทียมกัน ข้อมติเช่นนี้จะมีฐานะเป็นเพียงข้อเสนอ หามีผลผูกพันตามกฎหมายไม่
โดยปกติตราสารก่อตั้องค์การระหว่างประเทศมักจะกำหนดให้องค์กรเหล่านี้มีการตัดสินร่วมกัน
2. ข้อมติที่ออกมาโดยองค์กรขององค์การระหว่างประเทศเพื่อแจ้งไปยังรัฐซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกแห่งองค์การระหว่างประเทศนั่นเอง
หรือรัฐอื่นก็ได้ ข้อมติชนิดนี้ถือว่าเป็นข้อมติภายนอกขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นข้อมติที่มีผลทางกฎหมายและรัฐต้องปฏิบัติตามกับข้อมติที่เป็นเพียงคำเสนอแนะ
เช่น
ก. ข้อมติภายนอกขององค์การสหประชาชาติ
ที่มีไปยังองค์การระหว่างประเทศอื่น หรือรัฐอื่น
ในกรณีนี้ข้อมติของสหประชาชาติจะมี 2 ประเภทคือ คำวินิจฉัย (Decision)
และ คำแนะนำ (Recommendation) แต่คำว่า “คำวินิจฉัย” ของสมัชชาใหญ่กับคำว่า “คำวินิจฉัย” ของคณะมนตรีความมั่นคง
มีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน คำวินิจฉัยของสมัชชาใหญ่ที่ปรากฏในมาตรา 18 มิได้มีผลทากฎหมายแต่อย่างใด มีผลเป็นแค่เพียงคำเสนอแนะ เพราะสมัชชาใหญ่มิได้มีอำนาจในการออกข้อมติที่มีผลผูกพันสมาชิกในทางตรงกันข้ามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง
มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรัฐจะต้องปฏิบัติตามเสมอ แต่คณะมนตรีความมั่นคงอาจจะออกมติในรูปของคำแนะนำก็ได้
อย่างไรก็ตามข้อมติของสมัชชาใหญ่ซึ่งไม่มีผลบังคับแต่ถ้าหากข้อมตินั้นได้ประมวลกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
หรือกล่าวถึงพันธะกรณีตามกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาก็ดี หลักเกณฑ์นั้นๆก็มีผลตามกฎหมายแต่มิใช่โดยผลของข้อมติแต่เป็นโดยผลของสนธิสัญญาหรือกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้น
และโดยนัยดังกล่าวนี้เองที่ข้อมติของสหประชาชาติสัมพันธ์กับจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้
กล่าวคือแนวทางปฏิบัติกฎเกณฑ์ต่างๆที่ปรากฏอยู่ในข้อมติอาจเป็นแนวทางให้เกิดจารีตประเพณีกฎหมายระหว่างประเทศได้
เพราะจารีตประเพณีประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการเสมอคือ
แนวทางปฏิบัติของรัฐ กับความเชื่อว่าการปฏิบัตินั้นเป็นกฎหมายที่พึงต้องกระทำ (Opinio
Juris) ดังนั้นข้อมติที่ได้รับการยอมรับโดยคะแนนเสียงข้างมากสองในสามจึงเป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศว่าต้องปฏิบัติ
และการยอมรับปฏิบัติกันในระหว่างรัฐจำนวนมากๆเป็นเวลานานก็วิวัฒนาการกลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้
ข. ข้อมติขององค์การระหว่างประเทศอื่น มักจะมีสภาพที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ตราสารก่อตั้งขององค์การระหว่างประเทศนั้นๆจะกำหนดไว้
บางองค์การก็มีวิธีการออกมติให้มีผลผูกพันรัฐสมาชิก เช่นข้อมติของสหภาพยุโรปที่มีหลายรูปแบบด้วยกัน
และมีชื่อเรียกแตกต่างกันเช่น กฎข้อบังคับ (Regulation) แนวทางปฏิบัติ
(Directive) คำตัดสิน หรือคำวินิจฉัย (Decision) คำเสนอแนะ (Recommendation) ความเห็น (Opinion)
ซึ่งกฎข้อบังคับมีผลบังคับต่อรัฐสมาชิกทุกๆประเด็น และมีผลโดยตรงแก่รัฐสมาชิกเปรียบเสมือนหนึ่งกฎหมายภายใน
ส่วนแนวทางปฏิบัติผูกพันทุกรัฐ ในการที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้
คำตัดสิน หรือคำวินิจฉัย มีผลผูกมัดรัฐที่ได้รับแจ้งมตินั้น ส่วนคำเสนอแนะ และความเห็นไม่มีผลผูกมัดสมาชิก
โดยสรุปแล้วผลทางกฎหมายของข้อมติขององค์การระหว่างประเทศย่อมขึ้นอยู่กับตราสารก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

คำถาม 9
จงอธิบายถึงความเป็นมา การก่อตั้ง สถานภาพ และ เขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ
และอธิบายถึงปัญหาในทางปฏิบัติของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ

แนวตอบ 9
ความเป็นมา การก่อตั้ง สถานภาพของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับการก่อตั้งขึ้น โดยการที่ประเทศต่างๆในประชาคมระหว่างประเทศ
ต่างตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณของอาชญากรรมที่ร้ายแรงเช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
อาชญากรรมสงคราม และการใช้กำลังในการรุกราน ทั้งในลักษณะ ของการทำสงคราม
และการใช้กำลังในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสันติสุขของ ประชาคมระหว่างประเทศ
และ สมควรที่จะได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในการลงโทษบุคคลที่ก่อภัย กระทำอาชญากรรมเหล่านี้
โดยควรที่จะมีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่มี เขตอำนาจในการลงโทษนักโทษดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลอาญาถาวรระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยผลของสนธิสัญญาพหุภาคีระหว่างประเทศ
กล่าวคือ ธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งได้รับการจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 ในที่ประชุมใหญ่คณะทูตแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ
(UNITED NATIONS DIPLOMATIC CONFERENCE OF PLENIPOTENTIARIES ON THE ESTABLISHMENT
OF AN INTERNATIONAL CRIMINAL COURT) เพื่อที่จะส่งเสริมสนับสนุนหลักนิติธรรมและเพื่อเป็นหลักประกันว่าอาชญากรระหว่างประเทศที่โหดร้ายจะไม่รอดพ้นจากการถูกลงโทษ
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีสถานะที่เป็นสถาบัน หรือ ศาล อิสระปราศจาก
การแทรกแซง และ ครอบงำทางการเมือง และมีกลไกตลอดจนมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
และถึงแม้จะได้รับการริเริ่มจัดตั้งโดยสหประชาชาติ และมีความสัมพันธ์กับสหประชาชาติก็ตาม
แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ไม่ได้เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติ
ธรรมนูญกรุงโรมได้กำหนดเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาล โครงสร้าง องค์กร
การดำเนินงาน และกำหนดการเริ่มมีผลบังคับของธรรมนูญศาล กล่าวคือ 60 วันนับตั้งแต่มีรัฐภาคีสมาชิกให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม หรือมีรัฐเข้ามาภาคยานุวัติเป็นสมาชิก
ได้จำนวนครบ 60 ประเทศ และธรรมนูญกรุงโรมได้เริ่มมีผลบังคับในวันที่
1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 และนับตั้งแต่วันดังกล่าวบุคคลใดที่กระทำผิดอาญาตามที่ธรรมนูญกรุงโรมกำหนดมีโอกาสที่จะถูกพิจารณาตัดสินลงโทษโดยศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ได้
ที่ตั้งถาวรของศาลอาญาระหว่างประเทศอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันที่ตั้งชั่วคราวของศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งอยู่ที่
“DE ARC” เป็นอาคารที่สร้างขึ้นอยู่นอกเมืองของกรุงเฮก
และศาลนี้จะย้ายมาประจำที่ ที่ตั้งถาวรเมื่ออาคาร สถานที่ของศาลได้สร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจในการสอบสวน กล่าวโทษ พิจารณาไต่สวน ดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลได้
โดยระบบของศาลอาญาระหว่างประเทศนี้เป็นระบบเสริม หรือช่วยเหลือ การดำเนินการของศาลภายในประเทศ
และศาลอาญาระหว่างประเทศ จะเข้าไปเกี่ยวข้องต่อเมื่อศาลภายในประวิงการดำเนินคดี
หรือไม่สามารถดำเนินคดี หรือไม่ปรารถนาที่จะดำเนินคดีอาญาที่ร้ายแรงต่อมนุษยชาติดังกล่าวอย่างแท้จริง
ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือและดูแลรักษาสิทธิของเด็กและสตรีที่มักจะถูกละเลยในอันที่จะได้รับการคุ้มครองป้องกันสิทธิหรือได้รับการเยียวยาภายใต้กระบวนการยุติธรรม
กล่าวคือเด็กและสตรีมักจะเป็นเหยื่อของความโหดร้าย ทารุณกรรมโดยไม่ได้รับความยุติธรรม
ผู้กระทำผิดมักจะลอยนวลและไม่มีสถาบันระหว่างประเทศ หรือศาลใดเข้ามาหยิบยื่นความยุติธรรมให้
และผู้กระทำผิดมักไม่ได้รับการลงโทษอย่างสาสมกับความผิดที่ได้กระทำลง
เขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ
เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาในสามด้านกล่าวคือ เขตอำนาจศาลเหนือคดีที่ศาลมีอำนาจพิจารณา
เขตอำนาจศาลเหนือบุคคล และเขตอำนาจศาลในเรื่องเวลา นอกจากนั้น
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจ ครอบคลุมดินแดนของรัฐภาคีสมาชิก
และรัฐอื่นที่ยอมรับเขตอำนาจศาล
1. อาชญากรรมที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ
เขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดีอาญาจำกัดเพียงคดีอาญาที่ร้ายแรงที่สุด
ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล กล่าวคือศาลมีเขตอำนาจพิจารณาคดีตามธรรมนูญศาลในคดี
ต่อไปนี้
(ก) คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Crime of Genocide)
(ข) คดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity)
(ค) คดีอาชญากรรมสงคราม (War crimes)
(ง) คดีอาชญากรรมการรุกราน (The crime of aggression)
2. เขตอำนาจศาลในเรื่องเวลา
ศาลอาญาระหว่างประเทศ เริ่มมีอำนาจพิจารณาดำเนินคดีในความผิดฐานต่างๆที่กล่าวมาแล้วได้ต่อเมื่อธรรมนูญศาลเริ่มมีผลบังคับ
กล่าวคือธรรมนูญศาลไม่มีผลย้อนหลัง จะมีผลต่อเมื่อธรรมนูญศาลเริ่มใช้บังคับแล้วเท่านั้น
3. เขตอำนาจศาลเหนือบุคคล
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณาคดี เหนือบุคคลธรรมดาเท่านั้น
ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอาชญากร กระทำผิดตามความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา
5 แห่งธรรมนูญศาล ดังนั้นบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จึงไม่อาจถูกพิจารณา พิพากษาคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศได้
และศาลจะลงโทษบุคคลเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเป็นการเฉพาะรายไป
(Individual criminal responsibility)
ปัญหาในทางปฏิบัติของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรม
สำหรับปัญหาในทางปฏิบัติของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น
คือ สถานะของศาลอาญาระหว่างประเทศ กับประเทศไทยนั้น เป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมในการประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ
และการประชุมคณะทูตแห่งสหประชาชาติ และได้ร่วมรับรองธรรมนูญกรุงโรม แต่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก/ ให้สัตยาบัน ธรรมนูญกรุงโรม ทั้งนี้ ณ. วันที่ 14 พฤษภาคม
ค.ศ. 2004 มีรัฐสมาชิกให้สัตยาบันธรรมนูญของศาล ทั้งหมด 94
ประเทศ แต่ ณ.
วันดังกล่าวประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม โดยการให้สัตยาบันแต่อย่างใด
และไทยยังคงมีปัญหาหลายประการในการเป็นสมาชิก ทั้งนี้ ไทยมีปัญหาทั้งในด้านนโยบาย และ
ทางเทคนิค อีกทั้งปัญหาเกี่ยวกับพันธะกรณีที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศอื่นซึ่ง พันธะกรณีดังกล่าว
อาจจะขัดแย้งกับภารกิจ หรือพันธะในการปฏิบัติตามหน้าที่ และ ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ
เช่นประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในการที่จะไม่ส่งตัวผู้ต้องหาอเมริกันให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศ
เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเป็นภาคีสมาชิกของศาลได้เนื่องจากรัฐภาคีไม่สามารถตั้งข้อสงวนในธรรมนูญของศาลได้
และต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้ธรรมนูญของศาล อีกทั้งศาลอาญาระหว่างประเทศย่อมมีเขตอำนาจของศาลเหนือดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกด้วย
นอกจากนี้ประเทศไทย ยังมีปัญหาทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับฐานความผิดที่แตกต่างกันระหว่างประมวลกฎหมายอาญา
และธรรมนูญศาล เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเหนือคดี และ ในเรื่องการรับรองเอกสิทธิ และความคุ้มกันของศาลอาญาระหว่างประเทศ
อีกทั้งนโยบายของประเทศต่อกรณี ความผิดดังกล่าว

คำถาม 10
นายแบคแฮม และนางวิคตอเรียเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้จดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษ
ต่อมานายแบคแฮมและนางวิคตอเรียซึ่งประทับใจในประเทศไทยอย่างมาก จึงมาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลา
3 เดือนทุกๆปีช่วงฤดูหนาว ในระหว่างที่มาพักอาศัยและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย
นายแบคแฮมได้หายไปจากที่พักไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่าไปอยู่ที่ใด หรือเป็นตาย ร้ายดีอย่างไร
นางวิคตอเรียจึงร้องขอต่อศาลไทยให้มีคำสั่งให้นางวิคตอเรียเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของนายแบคแฮมชั่วคราว
เพื่อจัดการทรัพย์สินต่างๆในประเทศไทยก่อนเดินทางกลับประเทศอังกฤษ จงพิจารณาว่าศาลไทยจะรับพิจารณาคำร้องของนางวิคตอเรียได้หรือไม่
และจะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ

แนวตอบ 10
หลักกฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวสาบสูญ อาจแยกพิจารณาออกเป็น 3
กรณีคือการจัดการทรัพย์สินชั่วคราว
การสั่งให้คนต่างด้าวเป็นคนสาบสูญ และ ผลแห่งคำสั่งให้คนต่างด้าวนั้นเป็นคนสาบสูญ
1. การจัดการทรัพย์สินชั่วคราว หมายถึงการที่ศาลจัดการสั่งให้มีการจัดการทรัพย์สินของคนต่างด้าวที่สาบสูญเป็นการชั่วคราว
โดยอาจจะสั่งให้มีการจัดการทรัพย์สินบางอย่าง หรือจัดการทรัพย์สินทั่วๆไปก็ได้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนต่างด้าวนั้น
และของคนภายนอกที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวนั้น เช่นเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ของคนต่างด้าว
การจัดการดังว่านี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน อีกทั้งไม่กระทบกระทั่งถึงฐานะส่วนตัวของคนต่างด้าว
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยแท้ โดยมีหลักกำหนดไว้ว่า
ก. ศาลไทยจะสั่งให้ดำเนินการจัดการดังว่านี้ได้เฉพาะคนต่างด้าวในประเทศไทยเท่านั้น
หมายถึง คนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ของไทย
และ
ข. กรณีเข้าตามเงื่อนไขซึ่งระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 48
และ มาตรา 49 และการสั่งการของศาลตามมาตรา 11
วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
นี้รวมไปถึงการแต่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สินตามมาตรา 48 วรรค 2 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ด้วย

2. ผลแห่งคำสั่งให้คนต่างด้าวนั้นเป็นคนสาบสูญ มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของคนต่างด้าวนั้น
ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น
นอกจากอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยนั้น อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจศาล ต้องถือว่ามาตรา 11 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่กฎหมาย
พ.ศ. 2481 ให้อำนาจแก่ศาลที่จะสั่งให้สาบสูญได้
ทั้งนี้เพราะการสั่งสาบสูญนั้น มิใช่เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของผู้สาบสูญ แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและฐานะทางเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยต่างหาก
2. ในส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขให้เป็นคนสาบสูญ มาตรา 11 วรรค 2 ดังกล่าวข้างต้นบัญญัติไว้โดยตรงว่า
ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคนต่างด้าว เพราะเป็นเรื่องที่ย่อมกระทบกระเทือนถึงสถานะของคนต่างด้าวนั้น
3. ในส่วนที่เกี่ยวกับผลแห่งคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคนต่างด้าว
เช่นเดียวกับเงื่อนไขตามข้อ 2 ข้างต้น
ดังนั้นจึงวินิจฉัยได้ว่านายแบคแฮม และนางวิคตอเรียซึ่งเป็นสามี ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายชาวอังกฤษได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นประจำทุกๆปี
ปีละ 3 เดือนนั้น ถือได้ว่าบุคคลทั้งสองเป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยแล้วทั้งนี้ตามมาตรา
37 และ 38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติว่า ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ
และ ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งสับเปลี่ยนกันไป หรือมีหลักแหล่งที่ทำการงานเป็นปกติหลายแห่ง
ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น ดังนั้น นายแบคแฮมและนางวิคตอเรียซึ่งมีหลักแหล่งที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นประจำปีละ
3 เดือน ถึงแม้จะอยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วยก็ตาม
หรือแม้จะเดินทางไป มา สับเปลี่ยนกันไป ก็ตาม บุคคลทั้งสองจึงมีภูมิลำเนาในประเทศไทยด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ดังนั้นศาลไทยจึงมีอำนาจที่จะสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินชั่วคราว
หรือ มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินชั่วคราว ตามมาตรา 11
แห่งพระราชกฎหมายขัดกัน พ.ศ. 2481 ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับเงื่อนไขในการสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญนั้นให้ใช้กฎหมายสัญชาติกล่าวคือกฎหมายอังกฤษซึ่งนายแบคแฮม
และนางวิคตอเรียมีสัญชาติ
สรุป ศาลไทยมีอำนาจรับคำร้องขอให้ศาลสั่งให้นางวิคตอเรียเป็นผู้จัดการทรัพย์สินชั่วคราวได้
ส่วนในกรณีการร้องขอให้นายแบคแฮมเป็นบุคคลสาบสูญนั้นให้ใช้กฎหมายของประเทศอังกฤษ
 

คำถาม 11
จงอธิบายผลทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า ในกรณีที่รัฐบาลประเทศ A
ลักลอบส่งคนของตนเข้ามาก่อวินาศกรรมขับเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ชนตึกรัฐสภาของประเทศ
B เป็นเหตุให้ตึกรัฐสภาพังทลายและผู้คนในรัฐสภาเสียชีวิตจำนวนมากนั้น
ต่อมารัฐบาลประเทศ B ได้ยิงจรวดนำวิถีเข้าชนอาคารธนาคารแห่งชาติของประเทศ
A จนพังทลายลงผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ต้องมีการนำผู้บาดเจ็บไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลหลายแห่ง
รัฐบาลประเทศ B จึงยิงจรวดพุ่งชนโรงพยาบาลทุกแห่ง
และสั่งห้ามการส่งยา และอาหารไปให้ประเทศ A โดยสิ้นเชิงเพื่อตอบโต้การกระทำประเทศ
A จงวิเคราะห์ว่าการกระทำของทั้งสองประเทศมีผลอย่างไรตามกฎหมาย
พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบการวิเคราะห์ด้วย

แนวตอบ 11
หลักกฎหมายในข้อนี้ คือ รัฐทุกรัฐในประชาคมระหว่างประเทศมีอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันและจะเข้าแทรกแซงหรือรุกรานรัฐอื่นมิได้
และเพื่อการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพในประชาคมระหว่างประเทศกฎหมายระหว่างประเทศจึงห้ามการใช้กำลังโดยมิชอบต่อกัน
เพราะการใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน และความพินาศแห่งมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า
ทุกประเทศ ดังนั้นกฎหมาย และระเบียบในประชาคมระหว่างประเทศเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลกและมวลมนุษยชาติจึงเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้
กฎบัตรสหประชาชาติที่นำเอาหลักเกณฑ์ และบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพของโลกมาบัญญัติไว้
หรือ ที่ได้วางกฎเกณฑ์ไว้เพื่อการรักษาสันติภาพของโลก กฎบัตรสหประชาชาติดังกล่าวจึงมีฐานะเป็น
Law – Making Treaty เป็นการวางหลักกฎหมายที่ประเทศสมาชิกจะต้องเคารพปฏิบัติตาม
และกฎหมายดังกล่าวมีฐานะเป็น Jus cogens รัฐใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวย่อมฝ่าฝืนต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็น
Jus cogens ในลักษณะเช่นว่านั้น และกฎบัตรสหประชาชาติได้บัญญัติหลักเกณฑ์พื้นฐานในการรักษาสันติภาพของโลก
ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยได้กำหนดหน้าที่ของรัฐในการที่ปฏิบัติเพื่อช่วยธำรงรักษาสันติภาพของโลกไว้ดังนี้
มาตรา 2 ข้อ 3 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
บัญญัติว่า สมาชิกทั้งปวงจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตนโดยสันติวิธีในลักษณะการเช่นที่จะไม่เป็นอันตรายแก่สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศและความยุติธรรม
ข้อ 4 ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมาชิกทั้งปวงจักต้องละเว้นการคุกคามหรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต
หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหประชาชาติ
การใช้กำลังในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
(State Responsibility) ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับผิดชอบของรัฐว่าหากรัฐใด
ซึ่งได้มีการกระทำโดยรัฐ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอื่นโดยผิดกฎหมาย หรือละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
รัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นต้องรับผิด ชดใช้ เยียวยา หรือแก้ไขให้กลับคืนดีดังเดิม
ดังนั้นหากรัฐใดได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอื่น รัฐที่ได้รับความเสียหายย่อมสามารถที่จะเรียกร้องให้รัฐที่กระทำผิดรับผิดชอบได้
โดยบอกกล่าวให้รัฐนั้นๆรับผิดชอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
แต่หากรัฐที่เสียหายได้บอกกล่าวเช่นว่านั้นแล้วรัฐที่กระทำผิดกลับเพิกเฉย
ละเลยไม่ดำเนินการรับผิดชอบ รัฐที่เสียหายสามารถที่จะดำเนินการผ่านกลไกของสหประชาชาติ
หรือดำเนินการทางศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรืออาจจะดำเนินการตอบโต้โดยการกระทำรีไพรซอล
สำหรับการกระทำโดยวิธีการรีไพรซอลนั้นจะต้องประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญกล่าวคือ
1. รัฐที่เสียหายได้มีการเรียกร้องให้รัฐที่กระทำผิดแก้ไขสถานการณ์ หรือรับผิดชอบตามที่ร้องขอ
หากอีกฝ่ายนั้นกลับเพิกเฉย รัฐที่เสียหายจึงสามารถกระทำการตอบโต้ได้ โดย
2. การตอบโต้นั้นจะต้องกระทำในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีความพอสมควร
หากการกระทำโดยการใช้กำลังเพื่อตอบโต้นั้นไม่ได้เข้าลักษณะของรีไพรซอล
ก็จะต้องถือว่ารัฐนั้นๆได้ใช้กำลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ
ในสมัยก่อนการใช้กำลังเข้าสู้รบกัน หรือที่เรียกว่าการทำสงครามนั้นเป็นสิ่งที่รัฐกระทำได้
แต่โดยความโหดร้ายของสงคราม จึงได้มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับกฎหมายสงคราม หรือ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้กำลังตามกฎหมายระหว่างประเทศ
โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าการสงครามใดเป็นสงครามที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสงครามใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และได้วางหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติในการทำสงครามในอนุสัญญาต่างๆมากมาย เพื่อลดความทารุณ
โหดร้าย และการกระทำที่โหดร้ายต่อบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรบ หรือการทหาร เกิดเป็นกฎหมายมนุษยธรรม
(Humanitarian Law) เดิมทีมีการกำหนดว่าสงครามที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคือสงครามที่รุกรานรัฐอื่นโดยไม่ชอบและสงครามอื่นๆตามที่ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นสงครามที่ชอบในกฎบัตรสหประชาชาติข้อ
10, 12, และ 15 แห่งกติกาสันนิบาตชาติ ได้กำหนดว่าสงครามที่ชอบนั้นได้แก่สงครามเพื่อการบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หรือคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ต่อรัฐที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล หรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด
หรือรัฐที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรายงานที่สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสันนิบาตชาติรับรองเป็นเอกฉันท์
หรือที่เรียกว่า “สงครามที่เรียกให้ปฏิบัติตาม” นอกจากนั้นก็เป็นการใช้กำลัง หรือสงครามเพื่อการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายตามข้อ
51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือการถูกรุกรานทางอาวุธจากรัฐอื่น
ซึ่งอาจจะใช้มาตรการป้องกันโดยลำพัง หรือการป้องกันร่วม (Collective
Defense) ทั้งโดยผลของสนธิสัญญาร่วมป้องกัน เช่น NATO หรือ SEATO แต่กรณีหลังได้เลิกความร่วมมือไปแล้วแม้ว่า
Manila Accord จะยังมีผลบังคับอยู่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้การสงครามนั้นจะเป็นการสงครามโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม
ก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายในการทำสงครามด้วย หรือปฏิบัติตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมกล่าวคือ

1. จะต้องไม่ทำร้ายบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการสู้รบ หรือแม้จะเป็นบุคคลซึ่งสังกัดกองกำลังติดอาวุธแต่ได้วางอาวุธแล้ว
หรือ บุคคลที่ถูกจำกัดให้อยู่นอกเขตการสู้รบเนื่องจากเจ็บป่วย บาดเจ็บ ถูกกักขัง หรือโดยเหตุอื่นใด
จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ด้วยมนุษยธรรมในทุกกรณี โดยปราศจากข้อแตกต่างที่เป็นการรังเกียจเดียดฉันท์
ไม่ว่าโดยเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว หรือต่างลัทธิความเชื่อ แม้กับชาติที่เป็นศัตรู กล่าวคือห้ามปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวข้างต้นในการที่จะทำอันตรายต่อชีวิต
ร่างกาย การทำให้พิการ ปฏิบัติการอันโหดร้าย ทารุณ การทรมาน ยึดตัวไว้เป็นประกัน ทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
ทำให้อับอาย ทำลายเกียรติยศ ลงโทษประหารชีวิตโดยไม่มีการพิจารณาคดี ไต่สวน สืบพยาน
2. ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาต่างๆที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการสงครามได้แก่
คำประกาศกรุงปารีสเกี่ยวกับการทำสงครามทางทะเล อนุสัญญากรุงเจนีวาเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ
คำประกาศเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กเกี่ยวกับการห้ามใช้กระสุนหัวตัด อนุสัญญากรุงเฮก 1899
เกี่ยวกับการทำสงครามทางบก อนุสัญญากรุงเจนีว่า 1906 เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยเจ็บ และบาดเจ็บในสนามรบรวมทั้งเชลยศึก
อนุสัญญากรุงเฮก 1907 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการทำสงคราม 13
ฉบับ พิธีสารกรุงเจนีวา 1925 เกี่ยวกับการห้ามใช้แก๊สพิษ
และสงครามเชื้อโรคในการทำสงคราม อนุสัญญากรุงเจนีวา 1929 2 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึกและผู้เจ็บป่วยและบาดเจ็บในสนามรบ
พิธีสารกรุงลอนดอน 1936 เกี่ยวกับการโจมตีของเรือดำน้ำต่อเรือสินค้า
อนุสัญญาเจนีวา 1947 4 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้เจ็บป่วยและเชลยศึก
ผู้เจ็บป่วยจากเรือแตกในสงครามทางทะเล การคุ้มครองป้องกันพลเรือนในเวลาสงคราม อนุสัญญากรุงเฮก
1954 เกี่ยวกับการป้องกันทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในเวลาสงคราม สนธิสัญญา
1976 ว่าด้วยการห้ามการผลิตและสะสมอาวุธชีวภาพ ตลอดจนการห้ามการทำอาชญากรรมสงคราม
วินิจฉัย จากข้อเท็จจริงจากโจทย์ การที่รัฐบาลประเทศ A ก่อวินาศกรรมใช้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึกรัฐสภาประเทศ B เป็นการรุกราน และเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบระหว่างประเทศ
และต้องรับผิดชดใช้ หรือเยียวยาต่อประเทศ B ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
เพราะเป็นการกระทำของรัฐ A ที่กระทำผิดกฎหมาย ละเมิดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศต่อรัฐ
B และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ B ตามหลักกฎหมายว่าด้วย
ความรับผิดชอบของรัฐ
ส่วนการที่รัฐ B ได้ยิงจรวดนำวิถีพุ่งเข้าชนอาคารธนาคารชาติของประเทศ
A จนพังทลายมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แล้วยังยิงจรวดพุ่งเข้าชนโรงพยาบาลทุกแห่งอย่างไร้มนุษยธรรมนั้นไม่ถือว่าเป็นการกระทำ
รีไพรซอล หรือ กระทำการป้องกันตัวโดยชอบ เพราะว่ารัฐ B ยังไม่ได้มีการเรียกร้องให้รัฐ
A รับผิดชอบ หรือเรียกร้องให้รัฐ A ทำการแก้ไข
เยียวยา แล้วรัฐ A เพิกเฉย และยังไม่ได้ดำเนินการตามครรลองของกระบวนการรักษาสันติภาพตามกลไกของสหประชาชาติในการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีเสียก่อน
ดังนั้นเมื่อรัฐ A ไม่ได้กระทำการตามครรลองของการรีไพรซอล
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ย่อมถือว่ารัฐ B ได้ใช้กำลังอาวุธเข้าโจมตีอย่างร้ายแรงโดยมิชอบ
และเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบ หรือการทำสงครามโดยมิชอบ
เพราะไม่เข้าลักษณะของการใช้กำลัง หรือการทำสงครามโดยชอบแต่ประการใด
นอกจากนี้รัฐB ยังได้กระทำการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ตามกฎหมายมนุษยธรรม
และ/หรือข้อห้ามในการทำสงคราม เนื่องจากยิงจรวดถล่มโรงพยาบาลอันเป็นที่
ที่ผู้เจ็บป่วย และพลเรือน ตลอดจนบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงครามพักรักษาตัวอยู่
อีกทั้งรัฐ B ได้สั่งห้ามการส่งยา และอาหารไปให้ประเทศ A
ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมต่อพลเรือนผู้ไม่เกี่ยวข้องในการรบของ
รัฐ A การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีความชอบธรรมแต่ประการใด
สรุป การกระทำทั้งของรัฐ A และรัฐ B ฝ่าฝืนต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

วิเคราะห์
คำถามข้อนี้ประเมินความเข้าใจของนักศึกษาในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
คือ
1. หลักกฎหมายว่าด้วยการรักษาสันติภาพของประชาคมระหว่างประเทศ
ตามมาตรา 2 ข้อ 3, 4 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
2. กฎบัตรสหประชาชาติที่วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพของโลกเป็น
Jus cogens และมีฐานะเป็น Law-Making treaty (แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎบัตรสหประชาชาติเป็น Jus cogens ทุกฉบับ เพราะบางฉบับจะเป็น soft law บางฉบับเป็น guideline
บางฉบับเป็น International Norm)
3. กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งต้องพิจารณาองค์ประกอบคือ

(ก) เป็นการกระทำของรัฐ
(ข) การกระทำนั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
(ค) การกระทำนั้นละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
(ง)การกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอื่น
4. ความรู้เกี่ยวกับ Reprisal และองค์ประกอบเกี่ยวกับการทำ
Reprisal กล่าวคือ
(ก). ต้องได้มีการเรียกร้องให้รัฐที่ทำผิดรับผิดชอบเสียก่อน
แล้วรัฐนั้นๆเพิกเฉย
(ข)ได้กระทำการตอบโต้ในสัดส่วนที่พอเหมาะ
5. ต้องทราบว่าการกระทำของรัฐ B ไม่ใช่ Reprisal
และเป็นการใช้กำลังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ
6. ต้องทราบว่ากรณีใดเป็นการใช้กำลัง หรือการทำสงครามโดยชอบ เช่นสงครามที่เรียกให้ปฏิบัติตาม
หรือการป้องกันตัวตามมาตรา 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติเป็นต้น ดังนั้นจึงทราบต่อไปว่าอย่างไรมิใช่การใช้กำลังโดยชอบ
7.การป้องกันโดยชอบกระทำได้อย่างไรอาศัยหลักกฎหมายหรือบ่อเกิดใด
8. แม้การใช้กำลังโดยชอบ หรือการทำสงครามโดยชอบนั้นยังต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการทำสงคราม
กล่าวคือทราบว่าข้อห้ามคืออะไรบ้าง มีอนุสัญญาใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสงคราม อันเป็นบ่อเกิดของกฎเกณฑ์ในการทำสงคราม
และวิธีปฏิบัติในการทำสงคราม หรือการใช้กำลัง
9. ข้อห้ามในการทำสงครามได้แก่อะไรบ้าง เช่นต้องไม่ทำร้ายพลเรือน หรือผู้ไม่เกี่ยวข้องในการทำสงครามผู้บาดเจ็บเป็นต้น
10. วินิจฉัยได้ว่ารัฐA และรัฐ B กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ข้อผิดพลาดของนักศึกษาในการทำข้อสอบข้อนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ดูโจทย์ว่าถามประเด็นใด
ไม่ได้พิเคราะห์ว่าถามอะไร กลับลอกเฉลยของข้อสอบเก่ามาตอบ
ทั้งๆที่ถามคนละประเด็นกัน ในการสอบไล่ครั้งก่อนโจทย์ถามเรื่องกลไกในการระงับข้อพิพาทโดยสหประชาชาติตามกฎบัตรสหประชาชาติ
และอำนาจหน้าที่ของสมัชชาใหญ่ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่วนโจทย์ของการสอบครั้งนี้ถามให้วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวข้างต้น
การผิดพลาดของนักศึกษาบางท่านเข้าใจผิดว่าสามารถใช้หลัก
Reprisal ได้ เป็นการตอบโต้ โดยไม่ได้ดูว่าการจะตอบโต้นั้นต้อง เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน
กล่าวคือรัฐที่เสียหายต้องมีการแจ้งให้รัฐที่กระทำผิดก่อนเยียวยา รับผิดชอบ หรือแก้ไขการกระทำผิดเสียก่อน
หากรัฐที่ทำผิดก่อนเพิกเฉยจึงจะตอบโต้ได้ และกระทำตามสมควร
บางท่านก็ตอบเรื่องการป้องกัน แต่ประเด็นนี้อ้างการป้องกันไม่ได้เพราะไม่ได้ทำโดยชอบ
ข้อผิดพลาดอื่นๆได้แก่การตอบไม่ครบถ้วน หรือตอบโดยไม่อ้างหลักกฎหมาย
หรือ หลักเกณฑ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และหลายท่านตอบมาเพียง 3-4 บรรทัดโดยไม่มีสาระของกฎหมาย ทำให้น่าเสียดายที่ได้คะแนนไม่มาก อย่างไรก็ตามมีนักศึกษาหลายท่านที่ตอบได้ดี

คำถาม 12
นาย Jean Paul ชาวฝรั่งเศส ซึ่งยืนอยู่ที่ชายแดนฝั่งประเทศฝรั่งเศส
ได้ซุ่มดักยิง นาย Roberto ชาวอิตาลีซึ่งมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
โดยนาย Roberto ถูกยิงที่ชายแดนระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสวิสเซอร์แลนด์เป็นผลให้นาย
Roberto เสียชีวิตทันทีในฝั่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ขณะที่ถูกยิงนั้นเอง
ต่อมาตำรวจของประเทศสวิสเซอร์แลนด์จับกุมตัว นาย Jean Paul ได้ที่ชายแดนระหว่างประเทศสวิสเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมนี
ขณะกำลังหลบหนีข้ามไปประเทศเยอรมนี ดังนี้รัฐบาลประเทศใดมีอำนาจดำเนินคดีและจับกุมนาย
Jean Paul ได้ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และ โดยอาศัยหลักมูลฐานใดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

 

แนวตอบ 12
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เขตอำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจตามกฎหมายของรัฐเหนือบุคคล
ทรัพย์สิน หรือ เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาเขตอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของแนวความคิดว่าด้วยอธิปไตยแล้ว
อาจแบ่งเขตอำนาจรัฐออกเป็น เขตอำนาจในทางนิติบัญญัติ เขตอำนาจในทางศาล และเขตอำนาจในการบังคับการตามกฎหมายในทางบริหาร
ขอบเขต ของเขตอำนาจรัฐ อาจจำแนกเขตอำนาจของรัฐออก ดังนี้
1) เขตอำนาจในการสร้างหรือบัญญัติกฎหมาย โดยฝ่ายนิติบัญญัติ
2) เขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย
โดยฝ่ายตุลาการ และโดยฝ่ายบริหาร
สำหรับมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ เนื่องมาจากหลักการสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1) หลักดินแดน
2) หลักสัญชาติ
3) หลักสากล
4) หลักป้องกัน
5) หลักผู้ถูกกระทำ
เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดน มีสาระสำคัญคือ รัฐมีเขตอำนาจที่สมบูรณ์เหนือบุคคล
ทรัพย์สิน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏหรือเกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐ
โดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลนั้นมีสัญชาติใด หรือทรัพย์สินนั้นเป็นของบุคคลสัญชาติใด
ดังนั้น บุคคลทุกคนที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของรัฐนั้น
และหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐใด รัฐนั้นย่อมใช้เขตอำนาจตามหลักดินแดนแก่ผู้กระทำความผิด
หรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้ โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำนั้นจะมีสัญชาติใด
หลักที่ว่ารัฐมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐนั้น
มีปัญหาสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่า ดินแดนของรัฐมีขอบเขตแค่ไหน และ เมื่อใดจึงจะถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐ
ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ในบางครั้งการกระทำความผิดก็มิได้เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลง ภายในดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งเท่านั้น
แต่การกระทำความผิดอาจเริ่มขึ้นภายในดินแดนของรัฐหนึ่งและไปเสร็จสิ้นภายในดินแดนของอีกรัฐหนึ่ง
ข้างต้น ก่อให้เกิดแนวความคิดซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ทฤษฎี ดังนี้
1. ทฤษฎีเขตอำนาจเหนือดินแดนตาม หลักอัตตวิสัย (subjective
territoriality) ตามทฤษฎีนี้
รัฐมีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดซึ่งเริ่ม (commencing)
ภายในดินแดนของรัฐนั้น แม้ว่าบางส่วนของความผิด (some
element of offence) หรือการบรรลุผลสำเร็จของการกระทำความผิด (completion
of offence) จะเกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐอื่นก็ตาม
2. ทฤษฎีเขตอำนาจเหนือดินแดนตามหลักภาวะวิสัย (objective
territoriality) ตามทฤษฎีที่สองนี้
ใช้ในกรณีที่การกระทำความผิดเริ่มขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐ แต่ได้เสร็จสิ้นลง
หรือบรรลุผลสำเร็จภายในดินแดนของรัฐนั้น ดังนั้น จึงเรียกทฤษฎีนี้อีกอย่างหนึ่งว่า
“” (effects doctrine) เพราะเหตุที่ทฤษฎีดังกล่าว รับรองเขตอำนาจของรัฐซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดผลของการกระทำความผิด
กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับว่า การใช้เขตอำนาจของรัฐเหนือดินแดนของตนนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด
(Exclusive right) ของรัฐนั้น แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางประการที่เกิดขึ้นตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือโดยความตกลงระหว่างรัฐได้
ดังเช่นในกรณีของบุคคลบางประเภทซึ่งได้รับความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ จากการใช้เขตอำนาจรัฐเหนือดินแดน
อันได้แก่
1. ความคุ้มกันของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต
2. ความคุ้มกันของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล
3. ความคุ้มกันของเจ้าพนักงานองค์การระหว่างประเทศ
4. ความคุ้มกันของรัฐต่างประเทศ เป็นต้น
เขตอำนาจรัฐตามหลักสัญชาติ ถือว่าสัญชาติเป็นสิ่งเชื่อมโยงที่ทำให้รัฐสามารถใช้เขต
อำนาจของตนเหนือบุคคลซึ่งถือสัญชาติของรัฐ ตลอดจนทรัพย์สินที่มีสัญชาติของรัฐโดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ที่ใด
โดยอาศัย ความเชื่อมโยง ระหว่างบุคคลกับชาตินั้นๆ เช่น ในกรณีบุคคลธรรมดา พิจารณาถึง
ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือกรณีนิติบุคคล พิจารณาสถานประกอบการ สถานที่จดทะเบียน
สัญชาติขยายถึง เรือ อากาศยาน เป็นต้น
เขตอำนาจของรัฐตามหลักผู้ถูกกระทำ (Passive Personality
Principle)
ตามหลัก Passive personality นั้น การใช้เขตอำนาจของรัฐมีมูลฐานมาจากสัญชาติของบุคคล
เช่นเดียวกันกับการใช้เขตอำนาจของรัฐตามหลักสัญชาติ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างหลักสัญชาติและหลัก
passive personality กล่าวคือ หลักสัญชาติจะอาศัย
สัญชาติของผู้กระทำความผิด (nationality of the perpetrator) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ ในขณะที่หลัก passive personality กลับใช้ สัญชาติของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิด
(nationality of the victim) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ

สาระสำคัญของหลัก Passive personality หรือหลักผู้ถูกกระทำนี้ก็คือ
รัฐมีเขตอำนาจ
เหนือคนต่างด้าวซึ่งกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลสัญชาติของรัฐนั้น
แม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐนั้นก็ตาม
เขตอำนาจรัฐตามหลักป้องกัน (Protective Principle) ก็คือ รัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือบุคคลผู้กระทำการอันถือได้ว่าเป็นภัยหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ
แม้ว่าผู้กระทำจะมิใช่บุคคลสัญชาติของรัฐ และการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐก็ตามเหตุผลที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักการนี้มีอยู่สองประการ
คือ
1. รัฐมีสิทธิในการป้องกันผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของตนเอง เนื่องจากรัฐไม่อาจหวังพึ่ง
ได้อย่างแท้จริงว่ารัฐอื่นจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ที่สำคัญของรัฐ
หรือไม่อาจคาดหวังว่ารัฐอื่นจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐในขอบเขตที่รัฐต้องการหรือถือว่าจำเป็น
2. ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ว่า หากรัฐไม่ใช้หลักป้องกัน ผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอาจหลุดรอดจากการลงโทษไปได้ด้วยเหตุว่า
การกระทำของบุคคลต่างด้าวนั้นอาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่ผู้กระทำอาศัยอยู่ขณะกระทำการนั้น
หรือการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง
ข้อสังเกตของหลักป้องกันก็คือ ผลของการกระทำความผิดไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงภายในดินแดนของรัฐที่ถูกล่วงละเมิด
ตามหลักป้องกัน รัฐจึงอาจใช้เขตอำนาจของตนได้ภายในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดซึ่งจะเป็นภัยหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

เขตอำนาจรัฐตามหลักสากล มีสาระสำคัญคือ อาชญากรรมบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับ
ส่วนได้เสียในระดับสากล (Universal interest) กล่าวคือ
เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อความสงบสุขของประชาคมระหว่างประเทศโดยส่วนรวม
และถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนานาชาติ (dilicta jurius gentium) ดังนั้น กฎหมายระหว่างประเทศจึงให้รัฐใด ๆ ก็ตามสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือการกระทำความผิดดังกล่าวได้
แม้ว่าการกระทำความผิดนั้นได้เกิดขึ้นนอกดินแดนของรัฐ ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดนั้นมิใช่คนสัญชาติของรัฐก็ตาม
การใช้เขตอำนาจเช่นว่านี้เรียกว่า เขตอำนาจสากล (Universal jurisdiction) ซึ่งมีความเชื่อมโยงอยู่กับ ลักษณะ (nature) ของความผิดหรืออาชญากรรมอันเป็นภัยต่อประชาคมระหว่างประเทศ
และเป็นที่ชัดเจนว่าเขตอำนาจสากลนี้ได้รับการยอมรับก็เพื่อเป็นการประกันว่า ผู้กระทำความผิดลักษณะดังกล่าวจะไม่สามารถหลุดรอดพ้นการลงโทษไปได้ความผิดซึ่งได้รับการยอมรับว่าอยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐตามหลักสากลนั้น
มีอยู่จำนวนน้อยมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดซึ่งตำรากฎหมายระหว่างประเทศมักอ้างถึง
ได้แก่ การกระทำอันเป็นโจรสลัด (Piracy) ซึ่งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้รับรองมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษในฐานะที่เป็นอาชญากรรมซึ่งรัฐทุกรัฐมีอำนาจที่จะจับกุม
นอกจากนี้ก็ยังมีความผิดที่สำคัญอื่นๆ เช่น การจี้ เครื่องบิน การจับคนเป็นตัวประกัน
การลักลอบค้ายาเสพติด การก่อการร้าย
นอกจากนี้ยัง มีความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ
ภายใต้ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีเขตอำนาจในการดำเนินคดี ที่ร้ายแร้ง คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และ อาชญากรรมรุกราน ซึ่งรัฐภาคีสมาชิก
หรือรัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาล สามารถให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินคดีได้

วินิจฉัยได้ว่า 1. รัฐบาลของประเทศสวิสเซอร์แลนด์มีเขตอำนาจศาลเหนือคดี
ที่นาย Jean Paul ได้กระทำผิดตามหลักดินแดนตามหลักภาวะวิสัย
(objective territoriality) เนื่องจาก การกระทำความผิดเริ่มขึ้นภายนอกดินแดนของสวิสเซอร์แลนด์
กล่าวคือ เริ่มเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส แต่ได้เสร็จสิ้นลง หรือบรรลุผลสำเร็จภายในดินแดนของสวิสเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ตาม “ทฤษฎีผลของการกระทำ” (effects doctrine) ซึ่งรับรองเขตอำนาจของรัฐซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดผลของการกระทำความผิด
2. รัฐบาลของประเทศ ฝรั่งเศสมีเขตอำนาจศาลเหนือคดีที่ นาย Jean
Paul ได้กระทำผิดตามหลักดินแดน ซึ่งมี เขตอำนาจเหนือดินแดนตาม
หลักอัตตวิสัย (subjective territoriality) เนื่องจากฝรั่งเศส
มีเขตอำนาจเหนือการกระทำความผิดซึ่งเริ่ม (commencing) ภายในดินแดนของรัฐนั้น
แม้ว่าบางส่วนของความผิด (some element of offence) หรือการบรรลุผลสำเร็จของการกระทำความผิด
(completion of offence) จะเกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐอื่น
คือ สวิสเซอร์แลนด์ก็ตาม
และฝรั่งเศส มีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนี้ ตามหลักสัญชาติด้วย
หลักสัญชาติจะอาศัย สัญชาติของผู้กระทำความผิด (nationality of the
perpetrator) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ
3. รัฐบาลของประเทศ อิตาลี มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีที่ นาย Jean
Paul ได้กระทำผิดตามหลักเขตอำนาจของรัฐตามหลักผู้ถูกกระทำ (Passive
Personality Principle) โดยอาศัยสัญชาติของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิด
(nationality of the victim) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ
ซึ่งสาระสำคัญของหลัก passive personality หรือหลักผู้ถูกกระทำนี้ก็คือ
รัฐมีเขตอำนาจ เหนือคนต่างด้าวซึ่งกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลสัญชาติของรัฐนั้น
แม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐนั้นก็ตาม

วิเคราะห์ 12
ข้อสอบข้อนี้มีวัตถุประสงค์ในการประเมินความรู้ของนักศึกษา ว่า มีความเข้าใจหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องเขตอำนาจของรัฐอย่างถูกต้องหรือไม่
และสามารถนำหลักกฎหมาย และทฤษฎีต่างๆมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องหรือไม่
ปัญหาการตอบข้อสอบของนักศึกษา นักศึกษาที่ตอบไม่ได้ส่วนมาก
ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเขตอำนาจของรัฐ ไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องว่าเขตอำนาจของรัฐเป็นอย่างไร
บางคนตอบได้ไม่ครบถ้วน ขาดตกบกพร่อง เมื่อไม่ทราบเกี่ยวกับเขตอำนาจของรัฐ จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าประเทศใดมีอำนาจในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด
บางท่านไม่สามารถวิเคราะห์ว่าประเทศที่มีอำนาจดำเนินคดีนั้น มีอำนาจโดยมูลฐานใดตามหลักกฎหมาย
นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่นำเรื่องกฎหมายขัดกันมาตอบซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
และนำเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาตอบโดยไม่ได้วิเคราะห์เรื่องเขตอำนาจศาลก่อน และไม่ได้วิเคราะห์ว่าประเทศใดบ้างมีอำนาจในการดำเนินคดี
บางท่านตอบถูกแต่ไม่ครบถ้วน บางท่านตอบแต่ประเทศที่มีอำนาจดำเนินคดี
แต่ไม่ได้อธิบายหลักกฎหมาย และ ไม่สามารถอธิบายว่าประเทศเหล่านั้นที่มีอำนาจดำเนินคดี
มีหลักเกณฑ์ และมูลฐานใดในการดำเนินคดี จึงทำให้ได้คะแนนน้อยไปตามเกณฑ์

 

คำถาม 13
จงอธิบายหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามทฤษฎีกฎหมายระหว่างประเทศ
และประเทศไทยมีหลักการในการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศอย่างไร

แนวตอบ 13
การยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ หมายถึง การที่ศาลของประเทศที่ได้รับการร้องขอ
ทำการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โดยไม่ต้องมีการบังคับ
ซึ่งถ้าคำพิพากษานั้นได้รับการยอมรับแล้ว ก็ย่อมมีผลในประเทศที่ทำการยอมรับ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับแล้วจะได้รับการบังคับด้วย
เช่น ตามสภาพคำพิพากษาต่างประเทศในบางลักษณะ อาจไม่จำเป็นต้องขอให้มีการบังคับ
เช่น คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ที่มีเจตนารมณ์เพียงประกาศรับรอง ยืนยันสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น
(Declaratory judgment) ได้แก่ คำพิพากษาให้คู่สมรสหย่าขาดจากกัน
หรือให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือ ในบางกรณีอาจเป็นการที่คู่ความ หรือผู้มีส่วนได้เสีย
อ้างคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นนอกจากการบังคับคดี เช่น
คำพิพากษาศาลต่างประเทศให้ยกฟ้อง หรือฟ้องแย้ง และจำเลยในคดีดังกล่าว ได้อ้างคำพิพากษานั้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคดีเดียวกับที่โจทก์นำมาฟ้องในอีกประเทศหนึ่ง
ซึ่งถ้าคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้นได้รับการยอมรับ ก็ย่อมมีผลไม่ให้โจทก์มาฟ้องร้องในเรื่องเดิมยังศาลแห่งประเทศที่ให้การยอมรับคำพิพากษาสาลต่างประเทศอีกต่อไป
เพราะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ตามหลัก res judicataเหตุที่ต้องมีการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศเนื่องจาก
โดยหลักเกณฑ์ เรื่องอำนาจอธิปไตย คำพิพากษาของประเทศใดย่อมมีขอบเขตการบังคับใช้ภายในดินแดนของประเทศนั้นเท่านั้น
จะนำไปบังคับในรัฐอื่นไม่ได้ แต่ความเป็นจริงในสังคมโลกปัจจุบัน คนชาติของรัฐต่างๆ
ได้มีการติดต่อ สื่อสาร และผูกสัมพันธ์กันมากขึ้น ปัญหาที่เกิดจากการบังคับตามคำพิพากษาย่อมมีมากขึ้น
จึงจำเป็นที่รัฐต่างๆ ต้องหันมาร่วมมือกันที่จะจำกัดการใช้อำนาจอธิปไตย
ในการยอมรับ และบังคับการตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยซึ่งกัน และกันในระบบศาล
ทฤษฎีในการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ประกอบด้วย ทฤษฎีต่างๆ ได้แก่ หลักอัธยาศัยไมตรี (Doctrine of Comity) และ หลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ (Reciprocity Doctrine) หลักแห่งพันธกรณี
(Doctrine of Obligation) หลักแห่งสิทธิที่ได้มาแล้ว (Doctrine
of Acquired Right or Theory of Vested Right) หมายความถึง
การที่ประเทศ สองประเทศ หรือหลายประเทศต่างช่วยเหลือยอมรับ
และบังคับตามคำพิพากษาของกันและกัน โดยอาศัยรากฐานมาจากแนวคิดในเรื่องหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนในลักษณะที่เหมือนกัน
หรือเท่าเทียมกัน สำหรับหลักแห่งพันธกรณีนั้น มีสาระสำคัญว่า คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ที่มีอำนาจศาลเหนือจำเลยย่อม กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ หรือ ความผูกพัน
ที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น ซึ่งศาลนั้นรวมทั้งศาลอื่นๆ ก็ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องบังคับตามหนี้แห่งคำพิพากษานั้นให้ด้วย
ส่วนหลักแห่งสิทธิที่ได้มาแล้ว เห็นว่าการที่ศาลของประเทศหนึ่ง
ประเทศใดทำการยอมรับ และบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้น
เป็นเรื่องของการยอมรับ และบังคับตามสิทธิที่ได้รับมาแล้วตามคำพิพากษานั้น
หาใช่เป็นการยอมรับ และบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยตัวของมันเองไม่

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการยอมรับ
และบังคับตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ พิจารณาได้ดังต่อไปนี้ คือ

1. ศาลต่างประเทศต้องมีอำนาจศาลในการพิจารณาคดี (Competent
Jurisdiction)
2. คำพิพากษาศาลต่างประเทศจะต้องถึงที่สุดและเสร็จเด็ดขาด (Finally
and Conclusiveness of Foreign Judgment)
3. ถ้าเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล คำพิพากษานั้นต้องกำหนดให้ชำระหนี้เป็นจำนวนที่แน่นอน
(Fixed Sum)
4. เมื่อคำพิพากษาศาลต่างประเทศมีองค์ประกอบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาศาลต่างประเทศก็จะมีผลเด็ดขาดในประเทศที่ได้รับคำร้องขอให้ยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้น
(Conclusiveness of Foreign Judgments)
5. การควบคุมการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ กล่าวคือ ศาลที่ได้รับคำร้องมีอำนาจที่จะควบคุมการยอมรับ
และบังคับการตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศได้ โดยการปฏิเสธการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศนั้นๆ
ที่ได้มาโดยการฉ้อฉล หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อหลักแห่งความยุติธรรม
ประเทศไทยไม่มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องนี้ก็ไม่มี แนวคำพิพากษาฏีกาในเรื่องนี้ก็มีเพียง 2
เรื่อง ซึ่งศาลได้อ้างอิงหลักการยอมรับ
และบังคับการตามคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ของศาลอังกฤษ ทั้งในเรื่องแนวความคิด
หลักเกณฑ์ และวิธีการมาเป็นหลักในการพิจารณา กล่าวคือยึดถือหลักการเคารพซึ่งกันและกันในระหว่างนานาประเทศทั้งหลาย
ประเทศหนึ่งจะยอมรับ บังคับบัญชา ถือตามคำพิพากษาของศาลในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่ง เป็นแนวคิดตามหลักอัธยาศัยไมตรีนั่นเอง
และ ยอมรับหลักแห่งพันธกรณีแทรกซ้อนเข้ามาด้วย และ คำพิพากษาศาลต่างประเทศต้องถึงที่สุดและเสร็จเด็ดขาด

วิเคราะห์ 13
ข้อสอบข้อนี้มีวัตถุประสงค์ในการประเมินความเข้าใจของนักศึกษา
เกี่ยวกับ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ เหตุผล
และทฤษฎีว่าด้วยการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตลอดจนประเมินความเข้าใจของนักศึกษาในเรื่องแนวทางปฏิบัติของประเทศไทยในการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ปัญหาในการตอบข้อสอบของนักศึกษาจากการตรวจข้อสอบข้อนี้พบว่านักศึกษาที่ตอบผิดไมได้อ่านหนังสือ
หรือไม่มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก เพราะไม่ได้อธิบายหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือแนวคิด ทฤษฎีกฎหมายแต่ประการใดเลย มักจะตอบไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเองโดยไม่ได้อิงหลักเกณฑ์แต่อย่างใด
และนักศึกษาตอบผิดอย่างมาก อีกเช่นกันที่นำเอาเรื่องกฎหมายขัดกันมาตอบโดยไม่ได้พิจารณาโจทย์เลย
บางคนตอบเรื่องศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และบางท่านนำเอาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศมาตอบ
บางท่านนำเอาเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศมาตอบ
ส่วนนักศึกษาที่ตอบถูก มักจะตอบไม่ครบถ้วนไม่ครอบคลุม บางคนตอบมาสอง
สามบรรทัดเท่านั้นไม่ได้อธิบายหลักกฎหมายจึงทำให้ได้คะแนนน้อยตามลำดับ

โจทย์

นายทรงศักดิ์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวจำนวนสองคูหาจากนายเต็กเฮงที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อเปิดกิจการค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยมีระยะเวลาเช่า 5 ปีโดยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือในประเทศไทย
กิจการดำเนินไปได้ด้วยดีจนปีที่ 3 นายทรงศักดิ์สุขภาพไม่ดีจึงเลิกกิจการและกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย
โดยค้างค่าเช่าปีที่ 3 ทั้งปี นายเต็กเองจึงติดตามมาฟ้องร้องนายทรงศักดิ์ที่ประเทศไทย
เพื่อบังคับให้นายทรงศักดิ์ชำระค่าเช้าที่ค้างอยู่หนึ่งปี และชำระค่าเช่าตามสัญญาที่เหลืออีก
2 ปี นายทรงศักดิ์โต้แย้งว่า คดีนี้ศาลไทยไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องดำเนินคดีเนื่องจากตามกฎหมายขัดกันต้องใช้กฎหมายของประเทศที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่
นักศึกษาจงพิจารณาวินิจฉัยว่าศาลไทยมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีหรือไม่และนายทรงศักดิ์จะต้องรับผิดชำระค่าเช่าตามคดีนี้อย่างไรทั้งนี้ให้พิจารณาตามหลักกฎหมายขัดกันระหว่างและพรบ.สัญชาติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
พ.ศ.2481

หลักกฎหมาย
1. พรบ.สัญชาติพ.ศ.2535
2.พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 วางหลักว่า
มาตรา 13 วรรคแรก ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
หรือ ผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ
โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ
ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติ อันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกันก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้น
ได้ทำขึ้น
    ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง
ถิ่นที่ถือว่าสัญญา นั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นคือถิ่นที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น
    สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่ง
ใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น
3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า
มาตรา 4(1) คำฟ้อง
ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ใน
ราชอาณาจักรหรือไม่
4. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น
ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้
หากมิได้ทำเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
ดูว่าเกิดการพิพาทจากมูลอะไรในกรณี หนี้เกิดจากมูลไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า
มี ๓ ขั้น
ขั้นที่ ๑ ดูว่าคู่พิพาทได้มีการตกลงกันไว้ ว่าจะให้
กฎหมายของประเทศใดในบังคับสัญญา หากมิได้กำหนดไว้
ขั้นที่ ๒ ดูองค์ประกอบว่า คู่กรณีมีสัญชาติต่างกันหรือไม่ ถ้าสัญชาติเดียวกันให้ใช้กฎหมาย
สัญชาตินั้น  
ขั้นที่ ๓ หากต่างสัญชาติกันให้ดูว่าที่ไหนเป็นที่ทำ สัญญา ให้ใช้กฎหมายประเทศนั้นบังคับ

สรุป
1. คดีนี้ศาลไทยรับฟ้องได้เนื่องจากศาลแพ่งมีเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาคดีพิพาทจาก
มูลหนี้เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า
2. มูลหนี้เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า และต้องใช้กฎหมายที่สัญญาเช่าเกิดขึ้นคือคือกฎหมายไทย
ศาลต้องปรับใช้กฎหมายไทย เมื่อพิจารณาตามกฎหมายภายในของไทยเกี่ยวกับแบบของนิติกรรมสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
ที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป
หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ท่านว่าการเช่นนั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
3. ศาลจะพิพากษายกฟ้องนายทรงศักดิ์ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่า

*****“ทูต” (diplomat)คือผู้แทนของผู้นำประเทศและเป็นผู้แทนของประเทศในการติดต่อกับอีกรัฐหนึ่ง
เช่นการพบปะหารือระหว่างผู้นำลาวกับนายกรัฐมนตรีไทยถือเป็นการติดต่อระหว่างรัฐทั้งสองได้
ในกรณีที่ผู้นำรัฐมีความสนิทกันก็อาจจะยกหูโทรศัพท์คุยระหว่างกันได้ ซึ่งก็ถือว่าสิ่งที่พูดนั้นคือความตกลงระหว่างประเทศทีเดียว
นอกจากนี้การติดต่อกันจะทำกันทางหนังสือก็ได้ เช่นสารแสดงความยินดีของนายกรัฐมนตรีไทยในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งโดยปรกติจะทำผ่านช่องทางการทูต ก็คือกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากการติดต่อตามรูปแบบดังกล่าวข้างต้นแล้ว
มีเหมือนกันที่การติดต่อระหว่างรัฐจะทำผ่านสื่อมวลชนโดยการให้สัมภาษณ์ของผู้นำประเทศหนึ่ง
เช่นนายกรัฐมนตรี พาดพิงถึงอีกประเทศหนึ่ง ทำให้อีกประเทศต้องตอบโต้ทางสื่อมวลชน อย่างนี้เรียกว่าเป็นการติดต่อแบบตอบโต้กันระหว่างรัฐ
ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งกันมากกว่าที่จะสร้างความสัมพันธ์
ตัวอย่างตำแหน่งและหน้าที่ของทูต
– Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary :เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม
หมายถึง เอกอัครราชทูตที่รัฐผู้ส่งแต่งตั้งไปยังรัฐผู้รับ โดยมอบหมายอำนาจให้ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของรัฐผู้ส่ง

ในกรณีที่เอกอัครราชทูตมิได้มีถิ่นพำนักอยู่ในรัฐผู้รับ เรียกว่า Non-resident
Ambassador
– Ambassador-Designate :ว่าที่เอกอัครราชทูตประจำรัฐผู้รับ หมายถึง
บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต แต่ยังมิได้ยื่นสาสน์ตราตั้งต่อประมุขแห่งรัฐผู้รับ

– Ambassador-at-Large :เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษ หมายถึง ผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศที่มีสิทธิและสถานะเทียบเท่าเอกอัครราชทูตผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานและกิจการเฉพาะกิจ
หรือเฉพาะเรื่องในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
– Ambassador attached to the Ministry of Foreign Affairs :เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ
หมายถึง บุคคล ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต มีภารกิจดูแลกิจการภายในของกระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
– Resident Ambassador :เอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทย
หมายถึง เอกอัครราชทูตของไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ประจำต่อประมุขแห่งรัฐผู้รับ แต่ยังคงมีถิ่นพำนักอยู่ในรัฐผู้ส่ง
เอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทยนี้ จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในรัฐผู้รับเป็นครั้งคราว

    กล่าวโดยสรุปได้ว่า หน้าที่ของผู้แทนทางทูต
(ซึ่งก็จะประจำอยู่ที่สถานทูต ณ ประเทศต่างๆ ) คือเป็นตัวแทนรัฐผู้ส่ง (ส่งทูต)
ในรัฐผู้รับ (รับทูต) คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและคนชาติรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ
เจรจากับรัฐบาลของรัฐผู้รับ สืบเสาะสถานการณ์ในรัฐผู้รับโดยวิธีการอันชอบด้วยกฎหมายและรายงานให้รัฐผู้ส่ง
รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้ส่งกับผู้รับ และอาจให้มีหน้าที่อื่นอีก รวมทั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ทางกงสุลด้วยก็ได้

กฎหมายว่าด้วยตัวแทนทางการทูต กฎหมายการทูตเป็นกฎหมายที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
แต่เริ่มมีกฎเกณฑ์ข้อ บังคับอย่างแน่นอนในศตวรรษที่ 15 ในฐานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี
ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ
ได้เลือกประมวลหัวข้อเรื่องความ สัมพันธ์ และความคุ้มกันทางการทูตซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศได้สิ้นสุดลงเมื่อ
ค.ศ. 1961 โดยร่างอนุสัญญานี้มีชื่อว่า “อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต”
คณะผู้แทนทางการทูต
1. คณะผู้แทนทางการทูต ประกอบด้วยบุคคลหลายประเภทด้วยกัน อันได้แก่
หัวหน้าคณะผู้แทน บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและวิชาการ
บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ ครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต คนรับใช้ส่วนตัว
2.การเข้าดำรงตำแหน่งของผู้แทนทางการทูตย่อมแตกต่างกันไปตามประเภทของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต
3.การเข้าดำรงตำแหน่งของหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ย่อมต้องขอความเห็นชอบจากรัฐผู้รับ
และการเข้าดำรงตำแหน่ง ของหัวหน้าคณะผู้แทนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ถวายพระราชสาสน์ตราตั้งหรืออักษรสาสน์ตราตั้งที่ถูกต้องต่อกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ
4. การเข้าดำรงตำแหน่งของบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากรัฐผู้รับเป็นแต่แจ้งการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับก็เป็นการเพียงพอแล้ว
5.การสิ้นสุดของการดำรงตำแหน่งผู้แทนทางการทูตอาจมีได้ 3 สาเหตุ คือสาเหตุอันเนื่องมาจากรัฐผู้ส่งเรียกตัวกลับ สาเหตุอันเนื่องมาจากรัฐผู้รับส่งตัวกลับ
และสาเหตุอื่นอันเนื่องมาจากตัวแทนทางการทูตนั่นเอง
6. วิธีการที่ทำให้การดำรงตำแหน่งของผู้แทนทางการทูตสิ้นสุดลง มีได้
2 วิธี คือ การเรียกหัวหน้าคณะหรือบุคคลอื่นในคณะผู้แทนกลับ และการขับไล่บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตโดยรัฐผู้รับ
7. หน้าที่ของคณะผู้แทนทางการทูต มีหลายประการ คือ
การเป็นตัวแทนของรัฐผู้ส่ง การคุ้มครองประโยชน์ของคนชาติของตนในรัฐผู้รับ
การเจรจากับรัฐบาลของรัฐผู้รับ การเสาะแสวงหาข่าวและรายงาน
การส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ระหว่างรัฐผู้รับกับรัฐผู้ส่ง
แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของผู้แทนทางการทูต เอกสิทธิ์ทางการทูต
หมายความถึง สิทธิของผู้ให้หรือเกิดขึ้นทางด้านผู้ให้ ที่จะให้สิทธิพิเศษในรูปผลประโยชน์หรือผลปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรืออาจเป็นการยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติหรือไม่ต้องมีภาระอย่างใดอย่างหนึ่ง
     ความคุ้มกันทางการทูต หมายความถึง สิทธิของผู้รับหรือเกิดขึ้นทางด้านผู้รับ
ผู้ให้จำจะต้องให้ความคุ้มกันแก่ผู้ได้รับ เพราะผู้ได้รับมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มกันนั้นอยู่ในตัวเอง
ผู้ให้จะไม่ให้ไม่ได้ ความคุ้มกันออกมาในรูปของการยกเว้นให้ผู้ได้รับปลอดหรือหรือหลุดพ้นจากอำนาจหรือภาระหรือภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
เอกสิทธิและความคุ้มกันของผู้แทนทางการทูต
1.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันมีความหมายที่แตกต่างกันแต่มักใช้ควบคู่กันไป
เอกสิทธิ์เป็นเรื่องสิทธิของผู้ให้ที่จะให้แก่ผู้แทนทางการทูตแห่งรัฐผู้ส่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์พิเศษนอกเหนือจากกฎหมายธรรมดา
ส่วนความคุ้มกันเป็นสิทธิ์ของรัฐผู้ส่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อยกเว้นจากการบังคับของกฎเกณฑ์แห่งรัฐผู้รับ
2.รากฐานทางทฤษฎีเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันมี 3 ทฤษฎี
2.1. ทฤษฎีลักษณะตัวแทนของผู้แทนทางการทูต ทฤษฎีนี้ถือว่าผู้แทนทางการทูตเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์
หากล่วงละเมิดทูตก็เท่ากับว่าเป็นการก่อความเสียหายแก่เกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ส่งทูตไปประจำนั่นเอง
ดังนั้นผู้แทนทางการทูตจึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจพระมหากษัตริย์ของรัฐที่ตนถูกส่งไปประจำ
2.2. ทฤษฎีสภาพนอกอาณาเขต
ทฤษฎีนี้ถือว่าสถานทูตเป็นดินแดนของรัฐผู้ส่ง จึงถือเสมือนว่า ผู้แทนทางการทูตอยู่นอกอาณาเขตของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่
ด้วยเหตุนี้ผู้แทนทางการทูตจึงไม่จำต้องอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐผู้รับ
2.3. ทฤษฎีประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ทฤษฎีนี้ถือว่ามูลฐานของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตมิใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวผู้แทนทางการทูตเอง
หากแต่เป็นความจำเป็นเพื่อประกันการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนทางการทูตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระและมีประสิทธิภาพนอกจากนั้นทฤษฎีนี้ยังมีหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ
ซึ่งมีหลักปฏิบัติว่า หากรัฐหนึ่งรัฐใดปฏิบัติต่อรัฐอื่น ๆ เช่นไร ผู้แทนทางการทูตของรัฐนั้นก็ย่อมได้รับการปฏิบัติตอบในทำนองเดียวกันนั้นจากรัฐอื่น
ในปัจจุบันนี้ได้ยอมรับนับถือทฤษฎีหลังนี้เป็นรากฐานของเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน
3.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางการทูตมีขอบข่ายถึงเรื่องการยกเว้นภาษีอากร
ภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม ค่าภาระ เสรีภาพในการสื่อสารคมนาคม ความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคล
ความคุ้มกันทางศาลในตัวบุคคล ความละเมิดมิได้ในสถานทูต
4.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของตัวแทนทางการทูตจะเริ่มขึ้นเมื่อบุคคลดังกล่าวได้เขามาในอาณาเขตของผู้รับ
และจะสิ้นสุดลงเมื่อภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายยุติลง หรือถึงแก่กรรม
ขอบเขตความคุ้มกันทางการทูต
ความคุ้มกันทางการทูตจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.ความคุ้มกันเกี่ยวกับตัวบุคคลหมายความถึงความละเมิดมิได้ในตัวแทนทางการทูต
ปลอดจากการจับกุม หรือกักขัง เป็นต้น
2. ความคุ้มกันเกี่ยวกับสถานที่หมายความถึงความละเมิดมิได้ในสถานที่ทำการของผู้แทนทางการทูตและที่อยู่ส่วนตัวของผู้แทนทางการทูตด้วย
รัฐผู้รับจำต้องงดเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการบังคับ เช่น การบุกรุกเข้าไปในสถานทูตเป็นต้น
3.   ความคุ้มกันทางศาล หมายความถึง การหลุดพ้นจากอำนาจศาลในรัฐผู้รับ
ความคุ้มกันนี้มีได้ทั้งทางคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง

************************************************************
บุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตดังต่อไปนี้
(ก) “หัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต” คือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผู้ส่งให้มีหน้าที่ระทำการในฐานะนั้น
1.เอกอัครราชทูต 2. รัฐทูตพิเศษ และ
อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม 3.อุปทูต
(ข) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต”
คือบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนซึ่งมีตำแหน่งทางทูต
(ค) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ”
คือบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนซึ่งทำงานเกี่ยวกับธุรการ และฝ่ายวิชาการของคณะผู้แทน
(ง) “บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ” คือบุคคลในคณะผู้แทนในฝ่ายบริการรับใช้คณะผู้แทน
(จ) “ครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต”
คือครอบครัวผู้แทนทางการทูตและสมาชิกอื่นในครอบครัวที่อยู่ภายในบ้านเดียวกัน
(ฉ) “คนรับใช้ส่วนตัว”
คือบุคคลซึ่งอยู่ในฝ่ายบริการรับใช้ของบุคคลในคณะผู้แทน และยังมิได้เป็นลูกจ้างของรับผู้ส่ง**********************************

โจทย์

บ.ฮ่องเฮา จำกัด จดทะเบียนที่ไทย คนไทยถือหุ้น 100% มีสำนักงานใหญ่ที่สิงค์โปร์ เปิดเป็นสาขาบริการสถานบังเทิงที่สิงค์โปร์
ทำการ เช่าอาคารตึกแถวสองคูหาย่านเกลังซ.9 จาก บ.เกลัง จำกัด
จดทะเบียนที่สิงค์โปร์ มีสำนักงานใหญ่ที่ไทย โดยมีระยะเวลาเช่า 5 ปีโดยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือในประเทศไทย กิจการดำเนินไปได้ด้วยดีจนปีที่ 3
สถานบังเทิงมีผลประกอบการไม่ดีจึงเลิกกิจการ โดยค้างค่าเช่าปีที่ 3ทั้งปี บ.เกลัง จำกัด จึงติดตามมาฟ้องร้องบ.ฮ่องเฮา จำกัด ที่ประเทศไทย
เพื่อบังคับให้บ.ฮ่องเฮา จำกัด ชำระค่าเช้าที่ค้างอยู่หนึ่งปี และชำระค่าเช่าตามสัญญาที่เหลืออีก
2 ปี ทนายความ บ.ฮ่องเฮา จำกัด โต้แย้งว่า คดีนี้ศาลไทยไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องดำเนินคดีเนื่องจากตามกฎหมายขัดกันต้องใช้กฎหมายของประเทศที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่

จงพิจารณาวินิจฉัยว่าในการพิจารณาคดีหรือไม่
และบ.ฮ่องเฮา จำกัด จะต้องรับผิดชำระค่าเช่าตามคดีนี้อย่างไรทั้งนี้ให้พิจารณาตามหลักกฎหมายขัดกันระหว่างและพรบ.สัญชาติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย
พ.ศ.2481
หลักกฎหมาย
1. พระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน พุทธศักราช 2481 วางหลักว่า
มาตรา 7 “ในกรณีมีที่การขัดกันในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล
สัญชาติของนิติบุคคลนั้นได้แก่สัญชาติแห่งประเทศซึ่งนิติบุคคลนั้นมีถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือที่ตั้งทำการแห่งใหญ่”
มาตรา 8 “ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ
ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายภายในแห่งประเทศสยาม”
มาตรา 13 วรรคแรก “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
หรือ ผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ
โดยปริยายได้

ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน
กฎหมายที่จะใช้บังคับ ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติ อันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกันก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้น
ได้ทำขึ้น

2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า
มาตรา 4(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรหรือไม่
3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วางหลักว่า
มาตรา 68  ภูมิลำเนาของนิติบุคคลได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ทำการ
หรือถิ่นที่ได้เลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการตามข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น
ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้
หากมิได้ทำเป็น หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

วินิจฉัย
1. การทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ระหว่างบริษัท ฮ่องเฮา จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียน
และมีถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงค์โปร์ จึงเป็นนิติบุคคลต่างด้าว สัญชาติสิงค์โปร์
ตามพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน พุทธศักราช 2481 มาตรา 7
กับบริษัท เกลัง จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ไทย
เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68 ทั้งคู่มีการตกลงเช่าอสังหาริมทรัพย์คืออาคารตึกแถวสองคูหาย่านเกลังซ.9ในประเทศสิงค์โปร์ ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ
โดยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือในประเทศไทย และมีข้อพิพาทระหว่างกัน จัดเป็นข้อพิพาท
ระหว่างเอกชน ที่พิพาทกันโดยมีนิติสัมพันธ์ทางแพ่งและพาณิชย์
ที่มีองค์ประกอบต่างชาติ จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการหากฎหมายมาบังคับกับคดี

2.ต้องพิจารณาว่าในคดีดังกล่าวจะ
กล่าวคือ ศาลใดมีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนี้ ซึ่งในคดีที่พิพาทระหว่างประเทศในทางแพ่ง พาณิชย์ระหว่างเอกชนนี้
อาจจะมีเขตอำนาจศาลที่ทับซ้อนได้ เช่น หรือ
หรือ หรือ
ศาลที่มีมูลคดีเกิดก็ได้ แต่ในคดีนี้ มีการทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือในประเทศไทย โจทก์เลือกที่จะอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลไทยจึงนำคดีมาฟ้องร้องที่ศาลไทย
ศาลไทยจึงต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาล ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
4(1) ศาลไทยมีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนี้ เนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
3. ศาลจะต้องพิจารณาว่าคดีพิพาทในคดีนี้ พิพาทกันด้วยข้อพิพาทใด กล่าวคือการให้ลักษณะกฎหมายแก่ข้อเท็จจริง
ซึ่งพิจารณาได้ว่า โจทกฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้จากการผิดสัญญาทางแพ่ง ซึ่งเป็นข้อพิพาทด้วยเรื่องหนี้อันมีมูลมาจากสัญญา
จึงต้องพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับกับคดี การพิพาทจากมูลอะไร
ในกรณีนี้ กรณีพิพาทคือ “หนี้” อันเกิดจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
ตามพระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน พุทธศักราช 2481 ในมาตรา 13
วรรคแรก “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
หรือ ผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือ
โดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ
ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติ อันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกันก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้น
ได้ทำขึ้น” ในกรณีนี้
คู่พิพาทมิได้กำหนดไว้กฎหมายของประเทศใดในบังคับสัญญา และคู่กรณีมีสัญชาติต่างกัน
แต่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือในประเทศไทย (หากมิได้กำหนดไว้
ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายไทยได้ ตาม
พระราชบัญญัติกฎหมายขัดกัน พุทธศักราช 2481มาตรา 8) จึงต้องใช้กฎหมายไทยบังคับกับคดี
4. ศาลต้องพิจารณาต่อไปว่าคดีนี้เมื่อมีการทำหนังสือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ตกลงเรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากคดีนี้เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5 ปี แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ให้ต้องทำสัญญาตามแบบ
แต่การเช่าซึ่งมีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หากมิได้ทำเป็น
หนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ เพียงสามปี
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538
เหตุด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5 ปีต้องทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ท่านว่าการเช่นนั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ มีเพียงการทำสัญญาเป็นหนังสือเท่านั้น
แม้ผลเหตุสัญญาย่อมเกิดขึ้นแล้ว จำเลยมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายเพียงสามปี
หากแต่บริษัท ฮ่องเฮา จำกัด ยังติดค้างค่าเช่าปีที่ 3 แก่บริษัท
เกลัง จำกัด เช่นนี้ถือว่าสัญญามีหลักฐานเป็นหนังสือก็ย่อมจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

สรุป
1. ศาลไทยมีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องดำเนินคดีโจทก์ ข้ออ้าวจำเลยฟังไม่ขึ้น
2. จำเลยต้องชำระค่าเสียหาย คือค่าเช่าที่ค้างชำระ1ปี ให้แก่โจทก์
*********************************** 

เขตอำนาจรัฐ (Jurisdiction)
เขตอำนาจรัฐ (jurisdiction) หมายถึง การใช้อำนาจของรัฐที่มีผลต่อบุคคล
ทรัพย์สิน หรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เขตอำนาจรัฐเกิดจากหลักอำนาจอธิปไตย
หลักความ
เท่าเทียมกันของรัฐ และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐ รัฐอาจใช้กฎหมายบังคับกับการกระทำผิดที่เกิดขึ้นนอกเขตดินแดนของตนได้ในบางกรณี
บุคคล (เช่น ตัวแทนทางทูต) หรือกิจกรรมและทรัพย์สินของรัฐอื่น อาจได้รับความคุ้มกันจากเขตอำนาจรัฐได้ตามหลักความคุ้มกันของรัฐาธิปัตย์
(
sovereign immunity)
เขตอำนาจรัฐในด้านต่างๆ
อำนาจในการตรากฎหมาย (legislative jurisdiction) โดยไม่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
      อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย
(executive jurisdiction) ภายในดินแดนของตน
      อำนาจทางศาล (judicial
jurisdiction) ในการพิจารณาคดี
(Civil
Jurisdiction)
ในประเทศกลุ่มคอมมอนลอว์ เช่น ฯ และอังกฤษ อำนาจในการดำเนินคดีแพ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการออกหมายเรียก
หากจำเลยปรากฎตัวในดินแดน แม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม
    ประเทศในภาคพื้นยุโรป ใช้อำนาจทางแพ่งเมื่อจำเลยมีถิ่นที่อยู่ในเขตดินแดนของตน
    เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน
ใช้อำนาจทางแพ่ง หากจำเลยมีทรัพย์สินในเขตราชอาณาจักร

และหากเป็นคดีครอบครัว  อำนาจศาลเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายที่ฟ้องคดีมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศ

เขตอำนาจรัฐในทางคดีอาญา(Criminal Jurisdiction)
มาตรฐานของเขตอำนาจรัฐ มีหลักสำคัญ 5 ประการคือ
1. หลักดินแดน (territorial principle)
2. หลักสัญชาติ (nationality principle)
3. หลักผู้ถูกระทำ (passive personality principle)
4. หลักป้องกัน (protective principle)
5. หลักสากล (universality principle)
หลักการอันมีมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ ได้รับการยอมรับในระดับที่แตกต่างกันหลักเขตอำนาจรัฐที่ได้รับการกล่าวอ้างมากที่สุด
คือ หลักดินแดน ทั้งหมดภายในดินแดนรัฐ
นอกจากรัฐยังสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือบุคคล ทรัพย์สิน
หรือเหตุการณ์ทั้งหมดภายนอกดินแดน ซึ่งได้แก่หลักสัญชาติ หลักสากล หลักป้องกัน
และหลักผู้ถูกกระทำ
สำหรับหลักเขตสัญชาติและหลักสากล เป็นหลักเขตอำนาจที่เกิดอย่างมั่นคง
และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
สั่วนหลักผู้ถูกกระทำได้รับการยอมรับน้อยที่สุด และเป็นหลักการที่มีข้อโต้แย้งบางประการ
มูลฐานของของเขตอำนาจข้างต้น มิได้มีลำดับขั้นแต่อย่างใด
มูลฐานเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลือกซึ่งในทางปฎิบัติ รัฐใดรัฐหนึ่งสามารถอ้างมูลฐานได้มากกว่าหนึ่งมูลฐาน
ในการใช้อำนาจเหนือเหนือกรณีใดกรณีหนึ่งและก็เป็นไปได้ว่ารัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ อาจอ้างมูลฐานใดมูลฐานหนึ่งในการใช้เขตอำนาจเหนือกรณีเดียวกันที่เรียกว่าเขตอำนาจซ้ำซ้อน

หลักดินแดน (Territorial Jurisdiction)
     กฎหมายของรัฐใช้บังคับเหนือการกระทำทั้งหมดที่เกิดในดินแดนหรือในเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐ
เขตอำนาจอธิปไตยได้แก่ พื้นดิน พื้นน้ำที่อยู่ในเขตแดน น่านน้ำภายใน
ทะเลอาณาเขต และห้วงอากาศที่อยู่เหนือพื้นที่เหล่านั้น
รวมถึงการกระทำที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 4 ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร
ต้องรับโทษ ตามกฎหมาย
การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา 5 ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้
กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร
โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะ
แห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็ง เห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี
ให้ถือว่าความผิดนั้นได้ กระทำในราชอาณาจักร
ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใด ซึ่งกฎหมาย บัญญัติเป็นความผิด
แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ
ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือ พยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

หลักสัญชาติ (Nationality
Principle)
    รัฐสามารถใช้กฎหมายอาญาบังคับกับคนชาติตน ใช้บังคับรวมถึงนิติบุคคล
เรือ อากาศยาน
รัฐมีอำนาจเต็มที่ในการกำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติ แต่หากจะนำสัญชาติไปอ้างกับรัฐอื่นในระดับระหว่างประเทศ
จะต้องมีความเกี่ยวโยงอย่างแท้จริง ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิด
ได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทย เป็นผู้เสียหาย
และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร

หลักผู้ถูกกระทำ (Passive Personality Principle)
         ตามหลัก Passive
personality นั้น การใช้เขตอำนาจของรัฐมีมูลฐานมาจากสัญชาติของบุคคล
เช่นเดียวกันกับการใช้เขตอำนาจของรัฐตามหลักสัญชาติ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้างระหว่างหลักสัญชาติและหลัก
passive personality กล่าวคือ หลักสัญชาติจะอาศัย
สัญชาติของผู้กระทำความผิด (nationality of the perpetrator) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ ในขณะที่หลัก passive personality กลับใช้ สัญชาติของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลร้ายจากการกระทำความผิด
(nationality of the victim) เป็นมูลฐานของเขตอำนาจรัฐ

สาระสำคัญของหลัก Passive personality หรือหลักผู้ถูกกระทำนี้ก็คือ
รัฐมีเขตอำนาจ เหนือคนต่างด้าวซึ่งกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลสัญชาติของรัฐนั้น
แม้ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐนั้นก็ตาม
การที่รัฐใช้กฎหมายบังคับต่อการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร แต่ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่คนชาติตน
เป็นหลักที่ได้รับการยอมรับน้อยกว่าหลักอื่นและได้รับการคัดค้านจากสหรัฐฯ
และอังกฤษ Cutting Case (1886) เป็นตัวอย่างที่เม็กซิโก
พยายามใช้หลักผู้ถูกกระทำมาตรา 8 (ข) ประมวลกฎหมายอาญา

หลักป้องกัน (Protective Principle)
เขตอำนาจรัฐตามหลักป้องกัน (Protective Principle) ก็คือ รัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือบุคคลผู้กระทำการอันถือได้ว่าเป็นภัยหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ
แม้ว่าผู้กระทำจะมิใช่บุคคลสัญชาติของรัฐ และการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นภายนอกดินแดนของรัฐก็ตามเหตุผลที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักการนี้มีอยู่สองประการ
คือ
    1. รัฐมีสิทธิในการป้องกันผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของตนเอง
เนื่องจากรัฐไม่อาจหวังพึ่งได้อย่างแท้จริงว่ารัฐอื่นจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ที่สำคัญของรัฐ
หรือไม่อาจคาดหวังว่ารัฐอื่นจะปกป้องผลประโยชน์ของรัฐในขอบเขตที่รัฐต้องการหรือถือว่าจำเป็น
    2. ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ว่า
หากรัฐไม่ใช้หลักป้องกัน ผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอาจหลุดรอดจากการลงโทษไปได้ด้วยเหตุว่า
การกระทำของบุคคลต่างด้าวนั้นอาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่ผู้กระทำอาศัยอยู่ขณะกระทำการนั้น
หรือการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง
    ข้อสังเกตของหลักป้องกันก็คือ ผลของการกระทำความผิดไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงภายในดินแดนของรัฐที่ถูกล่วงละเมิด
ตามหลักป้องกัน รัฐจึงอาจใช้เขตอำนาจของตนได้ภายในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดซึ่งจะเป็นภัยหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

·     
หลักสากล (Universality Principle)
กฎหมายของรัฐย่อมใช้บังคับได้กับการกระทำผิดซึ่งเป็นการละเมิดต่อประชาคมโลกโดยส่วนรวม
      1. การกระทำอันเป็นโจรสลัด
      2. การกระทำผิดที่เป็นอาชญากรรมต่อสันติภาพ

      3. อาชญากรรมต่อมนุษย์
      4. การละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรม

การใช้อำนาจรัฐตามสนธิสัญญา
อนุสัญญาว่าด้วยความผิดและการกระทำอื่นๆบางประการที่กระทำบนอากาศยาน
(Tokyo Convention) ค.ศ. 1963
อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการยึดอากาศยานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย(Hague
Convention) ค.ศ. 1970
อนุสัญญาเพื่อปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน
(Montreal Convention) ค.ศ. 1971
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture) ค.ศ. 1984
อนุสัญญาว่าด้วยบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในระดับระหว่างประเทศ
(Internationally Protected Persons Convention) ค.ศ. 1973
อนุสัญญาต่อต้านการจับตัวประกัน (Convention against the
Taking of Hostages) ค.ศ.
1979l      อนุสัญญาและพิธีสารปราบปรามการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยในการเดินทะเล
ค.ศ. 1988
อนุสัญญาต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ.
1988

กฎหมายไทยที่ให้อำนาจรัฐในทางคดีอาญา
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ.
2534
พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.
2535

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition)
ความผิดอาญาที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องเป็นความผิดอาญาในทั้งสองประเทศ
(หลัก Double Criminality)

·     
บุคคลที่ถูกส่งตัวจะถูกพิจารณาและลงโทษเฉพาะในความผิดที่ขอให้ส่งตัวเท่านั้น
(หลัก
Specialty)

·     
 ไม่ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีที่เป็นความผิดทางการเมือง
ความผิดเกี่ยวกับการเมือง
ไม่รวมการปลงชีวิต หรือประทุษร้ายประมุขแห่งรัฐ สมาชิกในครอบครัว
หรือผู้รักษาราชการแทนประมุข อาจมีปัญหาการพิจารณาว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่
เช่น หากเป็นการทำรัฐประหาร แต่ล้มเหลว

วิชากม. ระหว่างประเทศเป็นวิชา
ที่รวม กม.ต่างๆ มาปรับใช้ร่วมกัน

 

ข้อสอบออกในตำราเรียนทุกข้อ
บางปี ข้อสอบนำมาจาก กิจกรรมท้ายบท ซึ่งหากอ่านหนังสืออย่างละเอียดแล้ว
ก็จะจำได้ว่ามีแนวทางการตอบอย่างไร
?

 

ข้อสอบอัตนัย

เมื่ออ่านคำถาม 

แล้วต้องเข้าใจว่า
โจทย์ ถามเกี่ยวกับรื่องอะไร เนื่องจากเราแบ่งการเรียน รปท.เป็น
3 เรื่อง คือ

1. คดีความเมือง

2. คดีความบุคคล (บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล)

3. ศาลอาญาระหว่างประเทศ 

 

ลองจำแนก
ดูนะครับว่า ตัวอย่างที่ท่านอาจรย์ลาวัลย์ได้ ให้ไว้ เข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง
ขอไม่เฉลย

ลองทำดครับ

 ปรท……………………..

หลักกฏหมาย
1.หลักเกณฑ์ในการส่งร้ายข้ามแดน    การพิจารณากรณีมีการร้องให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 
ต้องพิจารณาตามลำดับโดยเริ่มจากการพิจารณาจากเรื่องต่อไปนี้คือ

 ประเภทของบุคคล  ประเภทความผิด 
ฐานะพิเศษบางประการของผู้กระทำผิด  
พิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน  ผลของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและสรุปหลักทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 หลักทั่วไปของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจสรุปดังนี้ 

 1.  บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 
เป็นผู้กระทำผิดทางอาญาหรือถูกลงโทษในทางอาญา  ในเขตของประเทศผู้ร้องขอ หรือเป็นคดีอาญาที่มีมูลที่จะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้

2.ต้องมิใช่คดีที่ขาดอายุความหรือคดีที่ศาลของประเทศใดได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งข้ามแดน 

 3.บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 
จะเป็นพลเมืองของผู้ร้องขอหรือผู้รับรับคำขอหรือของประเทศที่สามก็ได้ 

4.
ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกขอให้ส่งตัวได้กระทำไปนั้น ต้องเป็นความผิดกฏหมายอาญาของประเทศทั้งสองคือประเทศผู้ร้องขอและประเทศผู้รับคำขอ  

 5.ต้องเป็นความผิด  ซึ่งกฏหมายกำหนดโทษจำคุกไม่ตำ่กว่าหนึ่งปี 

 6.บุคคลผู้ถูกขอตัวได้ปรากฏตัวอยู่ในประเทศผู้ร้องขอให้ส่งตัว

7.เป็นประเทศเจ้าของที่เกิดเหตุ

8.ผู้ถูกส่งตัวไปนั้น จะต้องถูกฟ้องเฉพาะในความผิดที่ได้ระบุมาในคำร้องขอที่มีระบุในสนธิสัญญาระหว่างกัน 

9
. ต้องไม่ใช่ความผิดทางการเมืองหรือความผิดบางประเภท

อย่างกรณีนี้
เวลาตอบก็ควรอ้างกฎหมายภายในของไทยนั้น ซึ่งก็คือ
“พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.  2472”ซึ่งมีหลักการที่สำคัญๆในเบื้องต้นอยู่ในมาตรา 4  ถึงมาตรา 7 ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว
การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มิใช่ว่าจะสามารถขอได้ในการกระทำความผิดทุกประเภท

 ความผิดที่จะขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้

1.ต้องเป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า
1 ปี

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้หลักที่ว่า ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้นั้น
ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาที่สามารถลงโทษได้ทั้งในประเทศที่ร้องขอ และประเทศที่รับคำร้องขอด้วย
(Double Criminality) จึงถือได้ว่าพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทยยอมรับหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนซึ่งเป็นหลักการทั่วไปในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ

2.ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อย
หรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้วซึ่งมาจากหลักที่ว่าจะต้องไม่พิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลเดียวกันในความผิดที่กระทำในครั้งเดียวกันเป็นสองซ้ำ(Double
Jeopardy)

3.ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง
หรือการที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นความจริงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง

 

 

 

วิธีการและขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน 

1.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการตามปกติขั้นตอนและวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะเริ่มต้นจากการมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศ
โดยวิธีทางการทูตผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศ  โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบคำร้องแนบมาด้วย
คือ (มาตรา 7)

        ก.ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิพากษาคดีนั้น

        ข.ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด จะต้องมีหมายหรือสำเนาหมายจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ

       
เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำร้องและเอกสารหลักฐานต่างๆแล้วจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ความเห็นชอบและแจ้งสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหมายจับบุคคลที่ต้องการตัวดังกล่าว
เมื่อจับตัวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาไต่สวนยังศาลที่มีเขตอำนาจ
ถ้าหากศาลรับคำฟ้องคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้พิจารณาแล้ว ศาลจะแจ้งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบแล้วดำเนินการไต่สวน(มาตรา
8 – 9)

2.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีจำเป็นเร่งด่วนในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลต่างประเทศผู้ร้องขออาจทำคำร้องขอให้จับกุมและขังบุคคลที่ต้องการส่งข้ามแดนไว้ชั่วคราวมายังกระทรวงการต่างประเทศ
โดยคำร้องจะต้องแสดงความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง และระบุด้วยว่าได้มีการออกหมายจับไว้แล้วสำหรับความผิดนั้น
หรือได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษบุคคลดังกล่าวแล้ว

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องแล้วก็จะแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย
และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอหมายจับบุคคลดังกล่าว

เมื่อจับตัวบุคคลดังกล่าวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาล
ซึ่งศาลจะออกคำสั่งขังบุคคลดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวน แต่ประเทศผู้ร้องขอจะต้องส่งคำร้องขอและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสำเนาหมายสั่งจับหรือสำเนาคำพิพากษาอย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลไทยภายใน
2 เดือน
มิฉะนั้นศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว (มาตรา 10)

 

การพิจารณาคดีของศาล 

การพิจารณาคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น
ศาลจะไม่พิจารณาโดยละเอียดว่า บุคคลดังกล่าวมีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ขอให้ส่งตัวหรือไม่เหมือนอย่างการพิจารณาคดีทั่วๆไปแต่เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรส่งตัวบุคคลนั้นให้ไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น

หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงจะอยู่ที่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด
ดังนั้น

 

ศาลไทยจึงพิจารณาแต่เพียงข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกฎหมายและข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิดบางประการ
กล่าวคือ (มาตรา 12)

1.จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนหรือไม่

2. มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อส่งไปให้ศาลพิจารณาคดีได้หรือไม่
ถ้าความผิดนั้นได้กระทำในประเทศไทย

3. ความผิดนั้นเป็นความผิดที่อยู่ในประเภทที่จะส่งตัวข้ามแดนได้
กล่าวคือ

  • เป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า

    1

    ปี

  • ไม่ใช่ความผิดในคดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องได้มีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวหรือได้รับโทษมาแล้ว

  • ไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะในทางการเมือง

       โดยทั่วไปในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนศาลจะไม่ให้จำเลยประกันตัวไปในระหว่างการพิจารณาคดี
(มาตรา 11)

        สำหรับจำเลยนั้นโดยหลักแล้วศาลไม่จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานหรือข้อต่อสู้ของจำเลย
ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาของศาลไทยในชั้นนี้เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรจะส่งตัวบุคคลนั้นไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น
หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด

      อย่างไรก็ตาม ศาลอาจรับฟังข้อต่อสู้ของจำเลยในบางเรื่อง กล่าวคือ (มาตรา
13)

1.จำเลยไม่ใช่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวข้ามแดน
(จับผิดตัว)

2.ความผิดนั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้
เช่น ความผิดทางการเมือง หรือการที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น ความจริงเพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษในความผิดอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง

3.เรื่องสัญชาติของจำเลยอาจต่อสู้ว่าเป็นคนไทยรัฐบาลไม่ควรส่งตัวไปให้ประเทศอื่นลงโทษ
(ตามหลักคนชาติ)

       เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับที่ร้องขอ คำร้องขอนั้นมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ
และความผิดที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้นเป็นความผิดที่สามารถส่งตัวข้ามแดนได้ ศาลก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้ขังบุคคลนั้นไว้เพื่อรอการส่งข้ามแดนไปยังประเทศที่ร้องขอ
(มาตรา 15) แต่ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกับที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการให้ส่งตัวข้ามแดน
หรือพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอหรือความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดที่จะส่งตัวข้าม แดนได้ศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลนั้นไป

     คำสั่งศาลที่ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นไปจะยังไม่ถึงที่สุด พนักงานอัยการยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ภายใน
48 ชั่วโมง (มาตรา 14) หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างไรถือว่าเป็นที่สุด
กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบผลการพิจารณาคดีของศาลไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร                                                                                                                                  

 

บทสรุป 

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกระบวนการความร่วมมือทางกฎหมายอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ประกอบอาชญากรรมในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง
รวมถึงการประกอบอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นองค์กรข้ามชาติให้สามารถที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในความผิดที่เขาได้กระทำลงไป
จึงเป็นการร่วมมือกันรักษาระบบกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผล
ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก เพราะหากไม่มีการร่วมมือกันในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
เพื่อให้ผู้ประกอบอาชญากรรมได้ถูกส่งตัวไปลงโทษในความผิดที่เขาได้ก่อไว้แล้ว ผู้กระทำความผิดจะสามารถหลบหนีจากการถูกลงโทษได้
ซึ่งจะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องเสียไป และย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้แก่ “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472”
ซึ่งมิได้บัญญัติถึงความหมายของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้
แต่โดยทั่วไปแล้ว การส่งผู้ร้ายข้ามแดนหมายถึง “กระบวนการที่รัฐหนึ่งร้องขอไปยังอีกรัฐหนึ่งให้ดำเนินการจับกุมตัวบุคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดหรือต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดทางอาญาภายในเขตอำนาจศาลของอีกรัฐหนึ่งและพบตัวอยู่ในเขตอำนาจของรัฐนั้นเพื่อส่งตัวบุคคลดังกล่าวมาดำเนินการพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป”
ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะหลบหนีไปอยู่ ณ ที่ใดจะต้องถูกนำตัวมาฟ้องร้องลงโทษในความผิดที่ตนได้กระทำไว้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ
ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐแต่ละรัฐไม่มีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่รัฐอื่น
ดังนั้น เมื่อรัฐต่างๆมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือกันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงได้มีการวางหลักการพื้นฐานเป็นแบบพิธีและขั้นตอนในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติระหว่างกัน
โดยแต่ละรัฐอาจมีการทำเป็นสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐต่อรัฐในกรณีที่มีการทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างกัน

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็อาจกระทำโดยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน
กล่าวคือ หากรัฐหนึ่งยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่อีกรัฐหนึ่งที่ร้องขอแล้ว รัฐที่ร้องขอย่อมมีพันธกรณีที่จะต้องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ไปให้รัฐที่ได้รับการร้องขอเมื่อต้องการเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อมีการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้น
ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่ารัฐทั้งสองนั้นมีสนธิสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกันหรือไม่และกฎหมายภายในของรัฐที่ถูกขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมีบทบัญญัติไว้อย่างไร
ถ้าหากไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนทำไว้ต่อกันต้องถือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่างตอบแทนกัน

สำหรับประเทศไทยได้มีการทำสนธิสัญญาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้กับประเทศต่างๆหลายประเทศ
เช่น สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ ร.ศ.129 สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสยามกับเบลเยี่ยม
ค.ศ.1937  สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ค.ศ.1983 เป็นต้น

สำหรับกฎหมายภายในของไทยนั้น ได้แก่ “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 
2472”ซึ่งมีหลักการที่สำคัญๆในเบื้องต้นอยู่ในมาตรา 4  ถึงมาตรา 7 ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว
การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มิใช่ว่าจะสามารถขอได้ในการกระทำความผิดทุกประเภท ความผิดที่จะขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้

1.ต้องเป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า
1 ปี

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยใช้หลักที่ว่า ความผิดซึ่งบุคคลผู้ถูกร้องขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้นั้น
ต้องเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาที่สามารถลงโทษได้ทั้งในประเทศที่ร้องขอ และประเทศที่รับคำร้องขอด้วย
(Double Criminality) จึงถือได้ว่าพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนของไทยยอมรับหลักการปฏิบัติต่างตอบแทนซึ่งเป็นหลักการทั่วไปในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ

2.ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อย
หรือได้รับโทษในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้วซึ่งมาจากหลักที่ว่าจะต้องไม่พิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลเดียวกันในความผิดที่กระทำในครั้งเดียวกันเป็นสองซ้ำ(Double
Jeopardy)

3.ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง
หรือการที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นความจริงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง

 

วิธีการและขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน 

1.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการตามปกติขั้นตอนและวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะเริ่มต้นจากการมีคำร้องขอจากรัฐบาลต่างประเทศ
โดยวิธีทางการทูตผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศ  โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบคำร้องแนบมาด้วย
คือ (มาตรา 7)

  
                            
1.1ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ต้องมีสำเนาคำพิพากษาของศาลที่ได้พิพากษาคดีนั้น

  
                            
1.2ในกรณีขอให้ส่งตัวบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด จะต้องมีหมายหรือสำเนาหมายจับของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในประเทศที่ร้องขอ

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำร้องและเอกสารหลักฐานต่างๆแล้วจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ความเห็นชอบและแจ้งสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหมายจับบุคคลที่ต้องการตัวดังกล่าว
เมื่อจับตัวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาไต่สวนยังศาลที่มีเขตอำนาจ
ถ้าหากศาลรับคำฟ้องคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้พิจารณาแล้ว ศาลจะแจ้งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบแล้วดำเนินการไต่สวน(มาตรา
8 – 9)

2.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีจำเป็นเร่งด่วนในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลต่างประเทศผู้ร้องขออาจทำคำร้องขอให้จับกุมและขังบุคคลที่ต้องการส่งข้ามแดนไว้ชั่วคราวมายังกระทรวงการต่างประเทศ
โดยคำร้องจะต้องแสดงความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาอย่างชัดแจ้ง และระบุด้วยว่าได้มีการออกหมายจับไว้แล้วสำหรับความผิดนั้น
หรือได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษบุคคลดังกล่าวแล้ว

เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้รับเรื่องแล้วก็จะแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย
และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอหมายจับบุคคลดังกล่าว

เมื่อจับตัวบุคคลดังกล่าวได้แล้วพนักงานอัยการจะนำคดีขึ้นสู่ศาล
ซึ่งศาลจะออกคำสั่งขังบุคคลดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวน แต่ประเทศผู้ร้องขอจะต้องส่งคำร้องขอและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับสำเนาหมายสั่งจับหรือสำเนาคำพิพากษาอย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลไทยภายใน 2 เดือน
มิฉะนั้นศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว (มาตรา 10)

 

การพิจารณาคดีของศาล 

การพิจารณาคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น
ศาลจะไม่พิจารณาโดยละเอียดว่า บุคคลดังกล่าวมีความผิดตามข้อกล่าวหาที่ขอให้ส่งตัวหรือไม่เหมือนอย่างการพิจารณาคดีทั่วๆไปแต่เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรส่งตัวบุคคลนั้นให้ไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น

หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงจะอยู่ที่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด
ดังนั้น ศาลไทยจึงพิจารณาแต่เพียงข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อกฎหมายและข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิดบางประการ
กล่าวคือ (มาตรา 12)

1.จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนหรือไม่

       
        2. มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะส่งตัวผู้ต้องหาเพื่อส่งไปให้ศาลพิจารณาคดีได้หรือไม่
ถ้าความผิดนั้นได้กระทำในประเทศไทย

  
             3. ความผิดนั้นเป็นความผิดที่อยู่ในประเภทที่จะส่งตัวข้ามแดนได้ กล่าวคือ

          
                    
3.1 เป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี

3.2 ไม่ใช่ความผิดในคดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องได้มีคำพิพากษาให้ปล่อยตัวหรือได้รับโทษมาแล้ว

          
                    
3.3ไม่ใช่ความผิดที่มีลักษณะในทางการเมือง

 
             
 อนึ่งโดยทั่วไปในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนศาลจะไม่ให้จำเลยประกันตัวไปในระหว่างการพิจารณาคดี
(มาตรา 11)

  
             สำหรับจำเลยนั้นโดยหลักแล้วศาลไม่จำเป็นต้องฟังพยานหลักฐานหรือข้อต่อสู้ของจำเลย
ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาของศาลไทยในชั้นนี้เป็นเพียงการพิจารณาว่าควรจะส่งตัวบุคคลนั้นไปต่อสู้คดีในศาลของประเทศที่ร้องขอหรือไม่เท่านั้น
หน้าที่พิสูจน์ความผิดที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนพิจารณาคดีของศาลในประเทศที่ความผิดเกิด

 

อย่างไรก็ตาม
ศาลอาจรับฟังข้อต่อสู้ของจำเลยในบางเรื่อง กล่าวคือ (มาตรา 13)

1.จำเลยไม่ใช่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวข้ามแดน
(จับผิดตัว)

2.ความผิดนั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะขอให้ส่งตัวข้ามแดนได้
เช่น ความผิดทางการเมือง หรือการที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้น ความจริงเพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษในความผิดอย่างอื่นที่มีลักษณะทางการเมือง

               
3.เรื่องสัญชาติของจำเลยอาจต่อสู้ว่าเป็นคนไทยรัฐบาลไม่ควรส่งตัวไปให้ประเทศอื่นลงโทษ
(ตามหลักคนชาติ)

     
          เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับที่ร้องขอ
คำร้องขอนั้นมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และความผิดที่ขอให้ส่งตัวข้ามแดนนั้นเป็นความผิดที่สามารถส่งตัวข้ามแดนได้
ศาลก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้ขังบุคคลนั้นไว้เพื่อรอการส่งข้ามแดนไปยังประเทศที่ร้องขอ
(มาตรา 15) แต่ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกับที่ประเทศผู้ร้องขอต้องการให้ส่งตัวข้ามแดน
หรือพยานหลักฐานมีไม่เพียงพอหรือความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดที่จะส่งตัวข้าม แดนได้ศาลจะสั่งปล่อยตัวบุคคลนั้นไป

คำสั่งศาลที่ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นไปจะยังไม่ถึงที่สุด
พนักงานอัยการยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ภายใน 48
ชั่วโมง (มาตรา 14)  หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างไรถือว่าเป็นที่สุด
กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบผลการพิจารณาคดีของศาลไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งอย่างไร                                                                                                                                     

 

บทสรุป 

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกระบวนการความร่วมมือทางกฎหมายอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันในการปราบปรามผู้ประกอบอาชญากรรมในประเทศหนึ่งแล้วหลบหนีไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง
รวมถึงการประกอบอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นองค์กรข้ามชาติให้สามารถที่จะส่งตัวไปดำเนินคดีในความผิดที่เขาได้กระทำลงไป
จึงเป็นการร่วมมือกันรักษาระบบกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผล
ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของประชาคมโลก เพราะหากไม่มีการร่วมมือกันในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
เพื่อให้ผู้ประกอบอาชญากรรมได้ถูกส่งตัวไปลงโทษในความผิดที่เขาได้ก่อไว้แล้ว ผู้กระทำความผิดจะสามารถหลบหนีจากการถูกลงโทษได้
ซึ่งจะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องเสียไป และย่อมส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม

 

[Update] countries&nationalities” ..ประเทศต่างๆ และสัญชาติต่างๆ.. | สัญชาติของประเทศต่างๆ – NATAVIGUIDES

กิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนวันนี้..
สอนนักเรียนเรื่อง”countries&nationalities”
..ประเทศต่างๆ และสัญชาติต่างๆ..

สนุกสนานกันน่าดู..

1. Where are you from?
คุณมาจากที่ไหน
== I’m from Thailand.
ฉันมาจากประเทศไทย
What is your nationality?
คุณมีสัญชาติอะไร
== My nationality is Thai.
สัญชาติของฉันคือสัญชาติไทย

2. Where is Sandra from?
แซนดร้ามาจากที่ไหน
== She is from Japan.
แซนดร้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
What is her nationality ?
แซนดร้ามีสัญชาติอะไร
== Her nationality is Japanese.
สัญชาติของแซนดร้าคือสัญชาติญี่ปุ่น

3. Where is Tom from?
ทอมมาจากที่ไหน
== He is from China.
ทอมมาจากประเทศจีน
What is his nationality?
ทอมมีสัญชาติอะไร
== His nationality is Chinese.
สัญชาติของทอมคือสัญชาติจีน

4. Where are Rose and Sandra from?
โรสและแซนดร้ามาจากที่ไหน
== They are from France.
โรสและแซนดร้ามาจากประเทศฝรั่งเศส
What are their nationalities?
โรสและแซนดร้ามีสัญชาติอะไร
== Their nationalities are French.
สัญชาติของโรสและแซนดร้าคือสัญชาติฝรั่งเศส


World Flags (ธงชาติ รอบโลก) – สื่อการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ ป.4


สื่อการเรียนการสอน วิชา ภาษาอังกฤษ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4
เรื่อง World Flags (ธงชาติ รอบโลก)
ท่านสามารถติดตาม สื่อการเรียนการสอน
\”ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน\” ได้อีกหลายช่องทาง
webpage : http://www.kruao.com (ครูโอ๋)
fanpage : https://goo.gl/O22C3X
google+ : https://goo.gl/OBu7ia
youtube : https://goo.gl/bZlYwE
twitter : https://goo.gl/yHzunt
ฝากติดตามเพจ channel website ด้วยครับเพื่อพบกับ
สื่อการเรียนการสอน ที่เราอัพเดทให้ใหม่ๆ ตลอดฟรีๆ
สื่อการเรียนรู้ การสอนชุดนี้ ถูกนำไปใช้ใน การเรียนการสอนให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ท่านอาจเห็น สื่อที่ครูโอ๋ นำมาเผยแพร่นี้ ผ่านทาง การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อนำมาช่วยในการ สอนนักเรียนให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยในการอธิบาย ทำให้ผู้สอน หรือครูง่ายในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น สื่อนี้อาจไม่ได้ดี 100% หรือดีที่สุด แต่หากมีผู้สนับสนุน นักเรียน ให้ลูกหลานท่าน ดูไปด้วย ท่านก็ช่วยเพิ่มเติมความรู้ไปด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อตัวบุตรหลานของท่านอย่างมาก ท่านอาจไม่ต้องให้ดูเยอะ ให้ดูวันละ 1 คลิป 1 วีดีโอ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ดู เพิ่มเติมเลย
ในมุมมองของครูนั้น หากบางจุด สอนยาก หรืออธิบายยาก ท่านลองมาหาใน ครูโอ๋ แชนแนล ดูว่ามีวีดีโอไหน ที่ช่วยให้ท่านนำไปใช้ สอนได้ง่ายขึ้น ท่านอาจไม่ต้องเปิดทั้งวีดีโอ แต่เลือกส่วนที่สำคัญ ที่จะสานต่อการสอนของท่านให้ตรงเป้าหมาย ตรงตามตัวชี้วัด ของท่าน ทำให้ท่านสอนนักเรียนได้ง่ายขึ้น นักเรียนเห็นภาพการ์ตูน ภาพตัวอย่าง ก็เข้าใจมากขึ้น
สื่อการสอนนี้นำมาจาก
โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย
(OTPC : One Tablet Per Child)
จัดทำโดยสำนักงานเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เรียนภาษาอังกฤษ สื่อการสอนอังกฤษ ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน
เรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ฝึกพูดอังกฤษ สื่อการสอนป4

นอกจากการดูบทความนี้แล้ว คุณยังสามารถดูข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่เราให้ไว้ที่นี่: ดูเพิ่มเติม

World Flags (ธงชาติ รอบโลก) - สื่อการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ ป.4

คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก | หมวดประเทศต่างๆ | Wannabe Kids


คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก : หมวดประเทศต่างๆ 😍
ภาษาอังกฤษง่ายๆแค่คลิกเดียว 😎
👉👉👉เรามีแอฟพลิเคชั่นสนุกๆสำหรับการเรียนรู้แล้วนะ 👈👈👈
โหลดได้ที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/developer?id=Skeleton+Studio 😍

เหมาะสำหรับเด็กๆที่กำลังอยากเรียนรู้ ในระดับชั้นต่างๆ ได้แก่ ป.1,ระดับประถม ขึ้นไป หรือเด็กปฐมวัย และทุกเพศทุกวัย 🤗
คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูสามารถที่จะนำมาใช้สอนเด็กๆ 😙
ให้สนุกกับการเรียนรู้ 🤩

ติดตามพวกเราได้ที่ 🤗
FACEBOOK FANPAGE : https://goo.gl/bJESu5
YOUTUBE CHANEL : https://goo.gl/ihCyVw

อย่าลิมกดไลท์กดแชร์กด subscribe ด้วยน้า 😘

คำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก  | หมวดประเทศต่างๆ | Wannabe Kids

Country \u0026 Nationality ประเทศและสัญชาติ EP.2 ภาษาอังกฤษ ป 5


การเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับประเทศและสัญชาติในอาเซียน ระดับชั้น ป.5
โดย คุณครูอัญญารัตน์ เชื้อทอง

Country \u0026 Nationality ประเทศและสัญชาติ EP.2  ภาษาอังกฤษ ป 5

วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ป.5 เรื่อง ประเทศและสัญชาติ EP.2 ( 30 ก.ค. 2564 )


วิชาภาษาอังกฤษ ชั้น ป.5 เรื่อง ประเทศและสัญชาติ EP.2 ( 30 ก.ค. 2564 )

ประเทศอาเซียน(ASEAN) 10 ประเทศ l คำศัพท์ภาษาอังกฤษระดับประถม l ธงประเทศอาเซียน เมืองหลวง สกุลเงิน


แนะนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับประเทศอาเซียน (ASEAN) ทั้ง 10 ประเทศ พร้อมข้อมูลเมืองหลวง ธงชาติ และสกุลเงิน เหมาะสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา
สนใจเรียนไวยากรณ์และแกรมม่าภาษาอังกฤษพื้นฐานแบบฟรีๆ สามารถกดติดตามเราได้ที่:
Youtube: https://bit.ly/3dldu4m
Twitter: http://bit.ly/2Yt2lqH
Blog: https://goo.gl/JthDFX
Facebook: http://bit.ly/2CIaLBa
คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ

ประเทศอาเซียน(ASEAN) 10 ประเทศ l คำศัพท์ภาษาอังกฤษระดับประถม l ธงประเทศอาเซียน เมืองหลวง สกุลเงิน

นอกจากการดูบทความนี้แล้ว คุณยังสามารถดูข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่เราให้ไว้ที่นี่: ดูวิธีอื่นๆLEARN FOREIGN LANGUAGE

ขอบคุณมากสำหรับการดูหัวข้อโพสต์ สัญชาติของประเทศต่างๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *